ดุสิตโพลเผยคนกรุงมองเหตุวิวาทะ "ถุงทราย"เป็นเกมการมือง น่าเบื่อหน่าย

ข่าวทั่วไป Sunday October 14, 2012 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,143 คน ระหว่างวันที่ 9-13 ตุลาคม 2555 จากกรณีวิวาทะ ระหว่าง กทม.ที่นำโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กับ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กรณีถุงทราย บริเวณท่อระบายน้ำ ซึ่งขณะนี้ทั้งสองฝ่ายก็ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกันเรียบร้อย และทางม.ร.ว.สุขุมพันธ์ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลเพื่อให้ประชาชนคลายความกังวลใจ พบว่า ความเห็นอันดับ 1 ไม่อยากเห็นทั้งสองฝ่ายต้องมาถกเถียงกัน อยากให้ร่วมมือกันทำงานเพื่อบ้านเมืองจะดีกว่า 54.20% อันดับ 2 มาจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันหรือเกิดการเข้าใจผิด ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจเหตุผลซึ่งกันและกัน 30.69% อันดับ 3 ไม่ควรนำเรื่องการเมืองมาโยงกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม /เล่นเกมการเมืองกันมากไป 15.11%

ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร (ผู้ว่าฯกทม.) กับ นายปลอดประสพ สุรัสวดี (รมว.วิทยาศาสตร์และทคโนโลยีในฐานะประธาน กบอ.) ประชาชนเชื่อใครมากกว่ากัน อันดับ 1 ไม่เชื่อทั้ง 2 ฝ่าย 61.64% เพราะ เป็นเกมการเมือง เป็นการทำงานที่ต่างขั้วกัน รอดูผลงานหรือผลที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมจะดีกว่า อันดับ 2 เชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มากกว่า 22.65% เพราะ เป็นคนซื่อสัตย์ ตั้งใจทำงาน รู้ปัญหาในพื้นที่ต่างๆของกทม.เป็นอย่างดี มีการติดตามและพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง อันดับ 3 เชื่อ นายปลอดประสพ สุรัสวดี มากกว่า 15.71% เพราะ เป็นผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี อยู่ในตำแหน่งที่น่าเชื่อถือ ฯลฯ

กรณี วิวาทะครั้งนี้ ประชาชนคิดว่าแต่ละฝ่ายได้รับ “ผลดี" หรือ “ผลเสีย" อย่างไร กรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผลดี มีโอกาสได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆให้รับรู้ แสดงให้เห็นถึงเทคนิคและวิธีการทำงานของกทม. และ เป็นการกระตุ้นและนำข้อท้วงติงมาปรับปรุงแก้ไข ผลเสีย คือประชาชนขาดความเชื่อถือ เชื่อมั่นในการทำงาน เสียเวลาในการทำงาน ต้องออกมาชี้แจงหลายๆครั้ง และส่งผลต่อคะแนนนิยมจากประชาชน

ส่วนผลต่อพรรคประชาธิปัตย์ ผลดี คือถ้าผู้ว่าฯกทม.แก้ปัญหาได้ ก็ส่งผลดีต่อพรรคปชป.ด้วย เป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐบาล และได้รู้ถึงความนิยมต่อตัวผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน ส่วนผลเสีย คือ ส่งผลต่อคะแนนนิยมและฐานเสียงสำคัญในกทม. เป็นประเด็นที่ทำให้พรรคปชป.ถูกโจมตีทางการเมือง และ เกิดความขัดแย้งภายในพรรคปชป.

กรณี นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผลดี คือเป็นที่รู้จักและได้รับการพูดถึงจากสังคมมากขึ้น ได้รับความเชื่อถือและประชาชนไว้วางใจมากขึ้น และ เป็นการพิสูจน์ความรู้ความสามารถของตัวเอง ผลเสียคือ เป็นการแทรกแซงการทำงานและจ้องจับผิดมากเกินไป เป็นการคิดไปเองโดยไม่ได้พูดคุยกัน ด่วนสรุปเร็วเกินไป และเป็นการสร้างศัตรูทางการเมือง

ส่วนผลต่อพรรคเพื่อไทย ผลดี คือพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านอาจได้ทำงานร่วมกัน ได้เห็นบทบาทในการทำงานของนายปลอดประสพ และพรรคเพื่อไทยอาจได้คะแนนนิยมตีตื้นขึ้นมา ผลเสียคือเกิดการทะเลาะเบาะแว้งทางการเมือง พรรคเพื่อไทยถูกพาดพิงและได้รับผลกระทบไปด้วย และประสิทธิภาพและการทำงานของพรรคยังไม่ดีพอ

ขณะที่ผลต่อประชาชน ผลดีคือ ได้เห็นถึงบทบาทและการทำงานของหลายๆฝ่าย ทำให้ประชาชนตื่นตัวและสนใจติดตามข่าวมากขึ้น และ เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนผลเสียคือ ไม่รู้จะเชื่อใครหรือหันหน้าไปพึ่งใครได้ รู้สึกวิตกกังวลและไม่มั่นใจในการแก้ปัญหาน้ำท่วม และ ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของเกมการเมืองครั้งนี้

ทั้งนี้ประชาชนคิดว่า “บทเรียน" ที่ได้รับจากการวิวาทะครั้งนี้ คือ อันดับ 1 ความขัดแย้งหรือการทะเลาะกันไม่ส่งผลดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย มีแต่จะทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ไว้ใจ 54.66% อันดับ 2 การทำงานต่างๆต้องมีการชี้แจงหรือพูดคุยกับหลายๆฝ่ายให้รับรู้และเข้าใจตรงกันก่อน 24.43% อันดับ 3 เป็นเรื่องของเกมการเมืองที่เอาความเดือดร้อนของประชาชนมาใช้ชิงความได้เปรียบเสียเปรียบกัน 20.91%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ