นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานให้จังหวัดที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงบูรณาการการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ 4 แหล่ง ได้แก่ 1.น้ำฝน โดยขุดลอกและจัดหาพื้นที่รองรับน้ำให้สามารถนำน้ำฝนมาใช้งานและไม่ปล่อยให้น้ำไหลระบายทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
2.น้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนสำคัญ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ได้กำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสำรวจปริมาณน้ำและพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อจะได้วางแผนการจัดสรรน้ำและแผนการเพาะปลูกได้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน 3.น้ำที่ใช้ในการเกษตร ในพื้นที่เขตชลประทานให้ประสานการจัดสรรน้ำกับกรมชลประทาน ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานให้ประสานสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรออกปฏิบัติการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่ที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพาะปลูกอย่างเพียงพอ 4.น้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ผู้ประกอบการทราบ จะได้วางแผนการผลิตได้สอดคล้องกับปริมาณน้ำและเตรียมแผนสำรองกรณีเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ
ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำและการดำเนินงานแก้ไขปัญหากับ กบอ. อย่างใกล้ชิด เชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์มิให้รุนแรงและขยายวงกว้าง