ด้านนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานให้แก่ข้าราชการกรมการข้าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องดูแลทั้งในส่วนของภาคการผลิต การสร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่มเกษตรกรทุกสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่และมีความสำคัญต่อภาคเกษตรของประเทศ โดยกรมการข้าว จะต้องเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีการแข่งขันกันสูงในสินค้ากลุ่มข้าว เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเริ่มพัฒนาการผลิตทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณขึ้นมาทัดเทียมกับประเทศไทยซึ่งเป็น ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก โดยต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่นเพื่อร่วมกันเดินหน้าการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ รวมถึงดำเนินโครงการจัดระบบปลูกข้าวให้เป็นไปตามเป้าหมาย 4.6 ล้านไร่ ระหว่างปี 2554-2557 เพื่อให้เกษตรกรและชาวนาเห็นถึงข้อดีของระบบ zoning ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุน และป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดศัตรูพืชต่างๆ
ขณะที่นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า เดือนมกราคม 2556 จะมีการรับรองข้าวเจ้าพันธุ์ กข49 ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ชาวนาไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพต้านทานและทนต่อการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ดียิ่งขึ้นกว่าข้าวเจ้าพันธุ์ กข47 และ กข31 นอกจากนั้น ต้องเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์หลักและเมล็ดพันธุ์ขยายเพื่อรองรับ กับความต้องการของเกษตรกรทั้งในช่วงเวลาปกติและเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดภัยพิบัติหรือการระบาดของโรคพืชหรือแมลงต่างๆ ผ่านกลไกของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว (ศมข.) 23 แห่งทั่วประเทศ ส่วนประเด็นที่ว่าประเทศไทยจะยังคงอยู่ในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกหรือไม่ จะต้องรอผลสรุปในเดือนธันวาคม 2555 ที่จะถึงนี้จึงจะได้คำตอบที่ชัดเจน เพื่อวางทิศทางในเรื่องดังกล่าวต่อไป
สำหรับผลการดำเนินงานของกรมการข้าว ในปีงบประมาณ 2554 ที่ผ่านมา ว่า ในปีงบประมาณ 2554 กรมการข้าวได้ดำเนินงานสำคัญแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านวิจัยและพัฒนาข้าว ซึ่งมีการออกรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ 4 พันธุ์ คือ ข้าวขาวบ้านนา 432 ข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัว ข้าวเจ้าพันธุ์ กข47 และข้าวเจ้าพันธุ์ กขผ1 ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเทคโนโลยีการ ลดต้นทุนการผลิตข้าว
ด้านการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ มีการวางระบบเครือข่ายการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อป้องกันแก้ไขการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์และช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ด้านการส่งเสริมการผลิตข้าว ผ่านการจัดระบบการปลูกข้าว โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าว 2 ครั้งต่อปี ปลูกพืชหลังนาและใช้ปุ๋ยพืชสด ระยะเวลาของโครงการ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2557 คิดเป็นพื้นที่ 4.6 ล้านไร่ จาก 22 จังหวัด ในเขตชลประทาน และด้านพัฒนาข้าวไทย ด้วยการเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมที่ดีกว่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 รวมถึงพันธุ์ข้าวอื่นๆ ให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ก้าวล้ำหน้าคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามที่ตั้งเป้าจะพัฒนาด้านข้าวให้ชนะไทยในปี 2020
นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ด้วยการประสานเพิ่มแหล่งน้ำ ยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าข้าวไทยด้วยการส่งเสริมให้ใช้เมล็ดพันธุ์รับรองจากกรมการข้าว ส่งเสริมให้เพาะปลูกตามหลัก GAP และข้าวอินทรีย์ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดและมีตลาดมูลค่าสูงพร้อมที่จะรองรับสินค้าข้าวส่วนดังกล่าว รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ในการแปรรูปข้าวเพิ่มมูลค่าอีกด้วย