กทม.เล็งผุดโครงการรถไฟฟ้ารางคู่สายบางนา-สุวรรณภูมิ เล็งชงครม.อนุมัติ

ข่าวทั่วไป Friday November 9, 2012 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมานิต เตชะอภิโชค รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมประชาสัมพันธ์การมีส่วนร่วมของประชาชนสัมมนา ครั้งที่ 2 ตามโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง ระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail transit : LRT) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีนโยบายพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางให้ครอบคลุมพื้นที่บริการมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการจราจรบนถนน และเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน โดยได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง ระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา(Light Rail transit : LRT) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแลดล้อม ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนรองของกทม. จากเดิมเคยพิจารณาสายบางนา-สุวรรณภูมิ ว่าควรเป็นรถไฟฟ้ารางเดียว แต่ต่อมาพิจารณาว่าควรเป็นระบบรางคู่ เพราะมีความยืดหยุ่นในการให้บริการมากกว่า

โดยในขั้นตอนการดำเนินงานได้มีการประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูลระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง ครั้งที่ 1 ไปเมื่อ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะให้ลดจำนวนสถานีลง เนื่องจากมีระยะทางเพียง 18.3 กิโลเมตร และให้พิจารณาถึงจุดเชื่อมต่อที่แยกบางนา ซึ่งมีระยะห่างจากสถานีรถไฟฟ้ามาก และการสร้าง skywalk ต้องพิจารณาให้เหมาะสมสำหรับคนที่มีสัมภาระไปสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งคำนึงถึงคนชราและผู้พิการด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุม ในพื้นที่ตั้งแต่ มี.ค.54 - พ.ย.55 และได้นำความเห็นจากประชาชนมาปรับปรุงในเรื่องต่างๆ แล้ว

สำหรับการประชุมฯ ในวันนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการฯ เพื่อนำความเห็นไปจัดทำร่างรายงานฉบับสมบูรณ์นำเสนอผู้บริหารกทม. ก่อนจะจัดนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไป

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการศึกษาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองระบบรางเป็นอีกระยะหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในย่านธุรกิจที่ระบบขนส่งมวลชนระบบหลักไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมโครงข่ายในระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่สมบูรณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของระบบขนส่งมวลชนหลัก โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้พิจารณาเส้นทางที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการพัฒนามากที่สุด โดยสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ ตลอดจนเป็นการรับรองและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลักในเขตกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ