สำหรับประเด็นเรื่องการค้าการลงทุน สหราชอาณาจักรเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ในกลุ่ม EU และเป็นอันดับ 1 ในแง่มูลค่าการลงทุน โดยประเทศไทยต้องการรักษาฐานและขยายการลงทุนจากสหราชอาณาจักรในไทย ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า รวมถึงขยายตลาดการส่งออกและตลาดลงทุนของไทยในสหราชอาณาจักร ซึ่งทั้งสองประเทศจะร่วมกันส่งเสริมให้ภาคเอกชนขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น โดยจะตั้งเป้ามูลค่าการค้าระหว่างกันในปีหน้า
ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันและมาตรการด้านตรวจคนเข้าเมือง ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่งของยุโรป และไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด ผ่านศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว 24 ชม. ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยก็เดินทางมาท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ซึ่งสหราชอาณาจักรยินดีพิจารณาอำนวยความสะดวกคนไทยที่ขอตรวจลงตรา(วีซ่า) เดินทางเข้าสหราชอาณาจักร เพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ของประชาชน นักเรียนนักศึกษา และเดินทางเพื่อประกอบธุรกิจด้วย
ความร่วมมือด้านการศึกษา ไทยและสหราชอาณาจักรมีความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและ British Council เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยผ่าน 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการนำอาสาสมัครนักศึกษาชาวอังกฤษมาสอนภาษาอังกฤษ ณ โรงเรียนในประเทศไทยช่วงระหว่างปิดภาคเรียนของทุกปี และการสนับสนุน Software บทเรียนภาษาอังกฤษสำหรับลง Tablet PC ที่รัฐบาลจัดสรรให้โรงเรียนทั่วประเทศตามนโยบายส่งเสริมการศึกษาภาษาอังกฤษแก่เยาวชน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน(English Speaking Year 2012) ซึ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย
ด้านพลังงานทดแทน ไทยและสหราชอาณาจักรเห็นพ้องแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของสหราชอาณาจักรด้านการใช้พลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาทางเลือก รวมถึงเชื้อเพลงชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน(Carbon Capture Storage) และเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด(Clean Coal Technology) และการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานของภาคเอกชนสองฝ่าย
นอกจากนี้ ในประเด็นระดับภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ นายกฯ ได้ชื่นชมบทบาทและแนวนโยบายของสหราชอาณาจักรต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจของเมียนมาร์ ซึ่งไทยเห็นว่าสามารถร่วมมือกันในลักษณะไตรภาคี เพื่อยกระดับขีดความสามารถของเมียนมาร์สู่ความเท่าเทียมกันในประชาคมอาเซียน
อีกทั้งนายกฯ ยังได้ชื่นชมบทบาทของนายเดวิด คาเมรอนในการเป็นผู้สนับสนุนค่านิยมสากลในประเด็นต่างๆ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล การปราบปรามการค้ามนุษย์ การบริหารจัดการชายแดน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะเรื่อง Post 2015 Development Goals ที่เน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และลดความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งทางการไทยให้การสนับสนุนแนวทางดังกล่าวเพื่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศต่อไป