สศก.แนะเกษตรกรยโสธรงดปลูกข้าวนาปรังหลัง 8 อำเภอประสบภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Monday November 26, 2012 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉัตรชัย เต้าทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 11 อุบลราชธานี (สศข.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์น้ำและฝนทิ้งช่วงในพื้นที่รับผิดชอบจังหวัดยโสธร พบว่า ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดแล้ว คือ ข้าว ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัย 474,520 ไร่ และคาดว่าจะส่งผลความเสียหายสิ้นเชิง ประมาณร้อยละ 30 หรือประมาณ 142,356 ไร่

จากข้อมูล โครงการชลประทานจังหวัดยโสธร (ณ วันที่ 22 พ.ย.55)พบว่าสถานการณ์โดยรวมของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดยโสธรที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง คือ อ่างห้วยลิงโจน อ่างเก็บน้ำห้วยแสบง ขณะนี้มีปริมาณน้ำร้อยละ 20 ของความจุทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน

ดังนั้น จังหวัดยโสธร จึงได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งใน 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.คำเขื่อนแก้ว อ.มหาชนะชัย อ.เลิงนกทา อ.ทรายมูล อ.กุดชุม อ.ไทยเจริญ และ อ.ป่าติ้ว พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์และส่งสัญญาณเตือนภัยให้แก่ผู้นำหมู่บ้านและเกษตรกรเตรียมรับมือภาวะภัยแล้งที่กำลังจะมาถึงอย่างใกล้ชิด โดยเตรียมแนวทางเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในแม่น้ำชีที่รับน้ำมาจากเขื่อนลำปาวของจังหวัดกาฬสินธุ์ชึ่งเป็นต้นน้ำ ขณะนี้ มีปริมาณน้ำที่น้อยเช่นกัน โดยจะจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลักมากกว่าการเกษตร ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชในช่วงหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน จึงขอเตือนให้เกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทานงดการปลูกข้าวนาปรัง โดยส่งเสริมให้ปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทน เช่น พืชผัก และ ถั่วลิสง เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ