ขณะที่การจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 0.6% โดยภาคเกษตรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 3.6% เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนพื้นที่เพาะปลูกบางแห่งน้ำท่วมจึงทำให้มีการจ้างงานไม่เต็มที่ ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลลง 1.4% โดยสาขาที่จ้างงานลดลงมาก ได้แก่ การค้าส่งค้าปลีก โรงแรม และภัตตาคาร ขณะที่สาขาการผลิตและการก่อสร้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นหลังจากอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่กลับมาจ้างงานได้เต็มที่
สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ตั้งแต่ 1 ม.ค.56 ในส่วนที่เหลืออีก 70 จังหวัดทั่วประเทศนั้น จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยของประเทศเพิ่มขึ้น 22.4% ทั้งนี้พบว่าปัจจุบันมีแรงงานประมาณ 5.37 ล้านคนที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาท/วัน ซึ่งแม้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงานได้ แต่ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวางแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นใน 3 ด้าน ประกอบด้วย
1.ผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อมใน 70 จังหวัดที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นสูง 2 ปีต่อเนื่องรวมประมาณ 65% อันกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันจากที่เคยได้เปรียบค่าจ้างแรงงานในพื้นที่และสามารถชดเชยกับต้นทุนค่าขนส่งได้จะลดลงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกซบเซา ผู้ประกอบการบางรายยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการภาครัฐได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากข้อจำกัดที่มิได้เป็นนิติบุคคล จึงทำให้สถานการณ์ของกิจการ SMEs มีความเปราะบาง นอกจากนี้การปรับค่าจ้างแรงงานในอัตราเท่ากันทั้งประเทศจะทำให้แรงงานมีทางเลือกมากขึ้น จูงใจให้แรงงานกลับคืนสู่ภูมิลำเนา ซึ่งเป็นการซ้ำเติมการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันโดยเฉพาะสาขาในการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น
2.การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ จะจูงใจให้มีแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าประเทศไทยประมาณ 3-17 เท่า ซึ่งต้องเฝ้าระวังในการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่อาจจะมีมากขึ้น รวมทั้งต้องเพิ่มความเข้มงวดในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวมากขึ้นด้วย
3.ผลกระทบของต้นทุนการผลิตที่จะส่งผ่านราคาสินค้าไปยังผู้บริโภค ซึ่งจะกระทบต่อกลุ่มแรงงานอื่นๆ ที่มิใช่ลูกจ้าง และมิได้รับการปรับเพิ่มค่าตอบแทน เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมผลกระทบการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศจะไม่ส่งผลให้อัตราการว่างงานของประเทศเพิ่มขึ้นรุนแรง เนื่องจากสภาพตลาดแรงงานที่ยังอยู่ในภาวะตึงตัว ประกอบกับภาคเกษตรยังสามารถรองรับแรงงานเมื่อมีการเคลื่อนย้ายออกภาคการผลิตต่างๆ ได้ แต่จะทำให้มีจำนวนแรงงานรอฤดูกาลเพิ่มขึ้น และชั่วโมงการทำงานของแรงงานมีแนวโน้มต่ำลง นอกจากนี้ โอกาสในการหางานทำของผู้จบการศึกษาใหม่จะยากขึ้น เพราะผู้ประกอบการจะชะลอการจ้างงานเพิ่ม หรือรับเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการเท่านั้น
สำหรับสถานการณ์ครัวเรือนไทย ในไตรมาส 3/55 พบว่า มีหนี้สินเพิ่มขึ้นแต่มีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ลดลง ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ายอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีมูลค่า 2.74 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 2 และไตรมาส 1 ของปี 55 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้สิทธิตามโครงการรถยนต์คันแรกและบ้านหลังแรก โดยสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 33.6% สินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่น ๆ 30.3% และสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย 10.3%
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้คืนกลับลดลง เห็นได้จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) จากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลนั้นเพิ่มขึ้น 25.1% คิดเป็นมูลค่า 56,527 ล้านบาท หรือ 21.4% ของ NPL รวมทั้งหมด ขณะที่มูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 37.8% หรือ 7,382 ล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น 11% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัวมากเกินขึ้นและเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามโดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย ที่มีแนวโน้มใช้จ่ายตามค่านิยมของสังคมหรือแรงจูงใจจากการโฆษณาขายสินค้า
"แม้ว่าแรงงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนโยบายค่าแรง 300 บาท แต่กลับพบว่าแรงงานมีการออมเงินที่น้อยมาก โดยสัดส่วนการออมเงินของแรงงานล่าสุดมีเพียง 7.8% ของผลผลิตมวรวมในประเทศหรือจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนการออมเงินมากกว่า 50% ทั้งที่แรงงานไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะแรงงานผู้สูงอายุมากขึ้นก็ตามหรือเท่ากับว่าคนไทยแก่แล้วยังจนเหมือนเดิมขณะที่คนญี่ปุ่นแก่แล้วรวยเพราะมีการออมเงินมาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องส่งสัญญาณให้มีระบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างจริงจังพร้อมกับการส่งเสริมให้มีการออมเงินตั้งแต่วัยเด็ก โดยกระทรวงการคลังต้องทบทวนเรื่องของเงินออมแห่งชาติใหม่เพราะไม่สามารถรอช้าได้อีกต่อไป" นางสุวรรณี ระบุ
รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยในไตรมาสที่ 3 ยังมีดัชนีความสุขลดลง ซึ่งจากผลสำรวจของเอแบคโพลล์ล่าสุดพบว่าความสุขมวลรวมของคนไทยลดลงจาก 6.18 ในเดือนมี.ค.มาอยู่ที่ 5.79 ในเดือนก.ย. 55 หลังจากพบว่ามีปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจในครัวเรือนที่มีค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติก็เป็นข้อกังวลของคนไทยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน