โดยในวันนี้เป็นการตรวจกำลังพลกว่า 1,600 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่เทศกิจเขต 1,200 คน เจ้าหน้าที่เทศกิจหญิง 100 คน เจ้าหน้าที่เทศกิจของสำนักเทศกิจ 300 คน และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 10 คัน ซึ่งกำลังพลนี้จะปฏิบัติงานกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้เจ้าหน้าที่รายงานด่วนทางเครื่องมือสื่อสารที่เร็วที่สุดให้หน่วยบังคับบัญชาทราบ และให้ผู้บริหารของสำนักงานเขตออกคำสั่งมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบแก่หัวหน้าฝ่าย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องตามห้วงระยะเวลาตามแผน โดยมีหน่วยงานร่วมสนับสนุนในการปฏิบัติงานประกอบด้วย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการแพทย์ กองบังคับการตำรวจจราจร สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่รับผิดชอบ หน่วยทหาร หน่วยการข่าวในแต่ละพื้นที่ โรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่ อปพร.อาสาสมัครมูลนิธิ สมาคมต่างๆ โดยเตรียมจุดบริการประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางทั้ง 4 มุมเมือง จำนวน 6 จุด ได้แก่ ถนนเพชรเกษม (เขตหนองแขม) ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี (เขตทวีวัฒนา) ถนนพระรามที่ 2 (เขตบางขุนเทียน) ถนนบางนา-ตราด (เขตบางนา) ถนนพหลโยธิน (เขตดอนเมือง) และถนนสุวินทวงศ์ (เขตหนองจอก) และจัดเตรียมศูนย์ช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ประสบอุบัติเหตุ ประกอบด้วย ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ที่จะลำเลียงผู้สบอุบัติเหตุไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งจะลำเลียงนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ เตรียมการปฏิบัติงานในการป้องกันและระงับเหตุที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ 2556 ดังนี้ 1.ทุกหน่วยงานและส่วนราชการ ดูแลรักษาความปลอดภัยของอาคารและสถานที่ของราชการอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะการป้องกันการเกิดอัคคีภัยในอาคาร จัดทำคำสั่งมอบหมายเจ้าหน้าที่อยู่เวรยามให้ชัดเจน
2.สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ ร่วมกับสำนักงานเขต ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารหรือสถานที่จะจัดงานเฉลิมฉลอง ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด 3.สำนักเทศกิจ สนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต ในการจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานที่สำคัญและบริเวณที่จัดงานเฉลิมฉลอง พร้อมอำนวยความสะดวกและสนับสนุนด้านการจราจรและความปลอดภัยในการเดินทางไป-กลับ ของประชาชน 4.สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ให้เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร บุคลากรทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ รถพยาบาล รถศูนย์เอราวัณ ปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง
5.สำนักการโยธา สำนักการคลัง จัดเตรียมความพร้อมของบุคลากร ยานพาหนะ เครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ในการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือและออกปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ 6.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุที่ใช้ในการดับเพลิง พร้อมปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุตลอด 24 ชั่วโมง 7.สำนักการจราจรและขนส่ง ตรวจสอบ ดูแล ควบคุมกล้อง CCTV ให้ใช้การได้และบันทึกเหตุการณ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะสถานที่สำคัญและบริเวณที่จัดงานเฉลิมฉลอง รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบ ทำความสะอาด แก้ไขและจัดซ่อมเครื่องหมายจราจร และอุปกรณ์สัญญาณไฟจราจร ในถนนสายหลักให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และประสานผู้รับจ้างตรวจสอบความเรียบร้อยของสถานีรถไฟฟ้า สถานีรถ BRT ท่าเทียบเรือ และป้ายหยุดรถประจำทาง
8.สำนักงานเขต จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องออกตรวจดูแลความเรียบร้อยของสถานบริการ สถานบันเทิง รวมทั้งออกตรวจพื้นที่เขต โดยเฉพาะแหล่งชุมชนและสถานที่สำคัญในพื้นที่ และประสานเจ้าพนักงานจราจรอำนวยความสะดวกในการเดินทางไป-กลับของประชาชน 9.สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเขตและกองประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์การรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ความปลอดภัยในการจัดงานเฉลิมฉลอง และการป้องกันการเกิดอัคคีภัยในอาคาร บ้านเรือนกรณีไม่มีผู้พักอาศัย 10.สำนักงานปกครองและทะเบียน ในฐานะสำนักงาน ผอ.รมน.กทม. ตั้งศูนย์อำนวยการเหตุการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการเหตุการณ์ และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2555 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2556