" มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.ทั้งหมด 43,545 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 71% ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้ว 19% หรือ 9,982 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้ 20,501 ล้าน ลบ.ม.ลดลงจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มต้นการระบายน้ำฤดูแล้ง 3,324 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำทุกแห่งที่มีพื้นที่ชลประทานท้ายน้ำ มีการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ ลดลงตามลำดับ และมีช่องว่างในอ่างฯ สำหรับรับน้ำในช่วงฤดูฝนต่อไป" นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ.กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.ในช่วงต้นปี 56 ณ วันที่ 2 มกราคม 56 เวลา 24.00 น.
ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวว่า โครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำ กฟผ. 2 โครงการ คือ โครงการชลประทานเจ้าพระยา รับน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธ์ เริ่มการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.55-30 เม.ย.56 ส่วนโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ เริ่มการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.56
นอกจากนี้ยังมีโครงการชลประทานอื่นๆ ที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.55-31 พ.ค.56 และภาคใต้ซึ่งยังอยู่ในช่วงฤดูฝนจะเข้าสู่ฤดูแล้งในเดือน มี.ค.56
สำหรับเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีแผนการระบายน้ำเพื่อโครงการชลประทานเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งปี 2555/56 จำนวน 6,800 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบัน(ตั้งแต่ 1 พ.ย.55-2 ม.ค.56) ระบายน้ำไปแล้ว 2,709 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40% ของแผนทั้งหมด ยังเหลือปริมาณน้ำต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 4,091 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนทั้งสองยังมีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 6,776 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะระบายตลอดฤดูแล้งนี้
ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 57% มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 3,921 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งประมาณ 3,500 ล้าน ลบ.ม. และได้ระบายน้ำไปแล้ว(ตั้งแต่ 1 พ.ย.55-2 ม.ค.56) จำนวน 1,351 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลือปริมาณน้ำต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 2,149 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 60% มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,855 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งประมาณ 3,300 ล้าน ลบ.ม. และได้ระบายน้ำไปแล้ว(ตั้งแต่ 1 พ.ย.55-2 ม.ค.56) จำนวน 1,358 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลือปริมาณน้ำต้องระบายตลอดฤดูแล้งอีก 1,942 ล้าน ลบ.ม. หลังสิ้นสุดการระบายน้ำฤดูแล้ง คาดว่าเขื่อนทั้งสองจะมีปริมาณน้ำใช้งานได้ในอ่างฯ ประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการอุปโภคและบริโภคในช่วงต้นฤดูฝนที่มักจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง
ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ มีแผนการระบายน้ำเพื่อโครงการชลประทานแม่กลองช่วงฤดูแล้งปี 2555/56(1 มิ.ย.55-30 มิ.ย.56) จำนวน 7,000 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำส่วนหนึ่งในจำนวนนี้จะผันมาช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ปัจจุบันเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 87% และเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 82% รวมปริมาณน้ำใช้งานได้ในเขื่อนทั้งสอง 9,393 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะระบายตามแผน โดยปัจจุบันกำลังเริ่มต้นการระบายน้ำช่วงฤดูแล้ง
"การเพาะปลูกในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากกรมชลประทาน พบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกไปแล้ว 5.83 ล้านไร่ คิดเป็น 61% ของพื้นที่ที่วางแผน แบ่งเป็น พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทาน 4.63 ล้านไร่ หรือ 82% ของแผน ข้าวนาปรังนอกเขตชลประทาน 1.04 ล้านไร่ หรือ 28% ของแผน ที่เหลือเป็นพืชไร่-พืชผัก โดยการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำสามารถทำได้ตามแผน คาดว่าหากไม่มีการเปิดพื้นที่เพาะปลูกเกินกว่าแผนที่วางไว้ จะมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะจัดสรรตลอดฤดูแล้ง ตลอดจนมีน้ำสำรองไว้ใช้ยามจำเป็น" นายกิตติ กล่าว