"เมื่อวานผู้ว่าฯ ยะลาได้เชิญฝ่ายความมั่นคงมาประชุม เราได้เพิ่มกำลังการเฝ้าระวังและออกลาดตระเวนมากขึ้น น่าจะเป็นกลุ่มเดิมที่หัวรุนแรง... กรณีที่มาจากผู้เสียผลประโยชน์ก็มีส่วน แต่กระบวนการภัยแทรกซ้อนก็ถือว่ามีความสัมพันธ์กัน"เลขาธิการ สมช.กล่าว
สำหรับกล้องทีวีวงจรปิดที่เสียหายไปนั้น ทางการจะมีการติดตั้งใหม่ รวมทั้งการติดตั้งเพิ่มเติมในพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงด้วย
ขณะที่นายพงศเทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการดูแลความปลอดภัยให้ครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า ได้มีการประสานการทำงานร่วมกันของ 4 หน่วยงานในพื้นที่ ทั้งศึกษาธิการ ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง ตลอดจนตัวแทนครู เพื่อร่วมกันวางมาตรการดูแลความปลอดภัย
"ในแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงต่างกัน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับยุทธวิธี เวลาไหนเสี่ยงมากก็ยกระดับการดูแล มาตรการไม่ได้อยู่นิ่ง เรามีการปรับตลอด โดยให้ทาง 4 ฝ่ายมาหารือร่วมกัน"รมว.ศึกษาฯ กล่าว
พร้อมยืนยันว่า จำนวนครูยังมีเพียงพอในขณะนี้เพราะส่วนใหญ่ครูยังทำการสอนอยู่ในพื้นที่ ประกอบกับมีบัณฑิตอาสาเข้าไปช่วยเสริม ยกเว้นแต่ในพื้นที่ที่มองว่ามีสถานการณ์เสี่ยงจริงก็จะมีการย้ายครูออกเป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ
ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่แล้วถึงเหตุการลอบเผากล้องทีวีวงจรปิดว่าเป็นฝีมือกลุ่มที่เสียผลประโยชน์จากการประมูลกล้องวงจรปิด ไม่ใช่จากสาเหตุของคนร้ายที่ต้องการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยตนเองได้กำชับผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาแล้วว่าประเด็นนี้ต้องแก้ปัญหาที่ต้นทาง และพุ่งเป้าการสอบสวนไปที่คู่กรณี
"การประมุลมีการแข่งขันสูง ฝ่ายที่ประมูลไม่ได้ก็พยายามก่อกวน เจ้าหน้าที่ยืนยันมาแล้ว นี่ไม่ใช่การแก้ตัวให้เจ้าหน้าที่...เรื่องนี้ต้องเพ่งเล็งไปที่คู่กรณี ต้องแก้ปัญหาที่ต้นทาง" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์การดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมา ได้ดำเนินนโยบายมาอย่างถูกทางแล้ว ยืนยันว่าเร็วๆ นี้สถานการณ์จะต้องดีขึ้น แต่คงไม่ใช่การดีขึ้นแบบพลิกฝ่ามือ