ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขยังไม่ได้เข้าสู่วาระเพื่อพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากวิปรัฐบาลได้มีมติให้ชะลอการพิจารณาไว้ก่อนเป็นเวลาหลายปี ขณะเดียวกันแพทยสภาได้เคยยื่นข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 โดยหวังจะขยายเพดานเงินที่ต้องใช้และให้ครอบคลุมผู้ได้รับความเสียหายมากขึ้น เนื่องจากหลักการในกฎหมายเดิมเป็นการช่วยเหลือแค่เบื้องต้น ซึ่งทำให้วงเงินไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหายได้
ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานเกี่ยวเนื่องสาธารณสุขฯ กล่าวเสนอหลักการโดยให้มีการครอบคลุมผู้ป่วยทุกรูปแบบรวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามารับบริการ,การกำหนดความเสียหายไม่ควรนำเกณฑ์ของการให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพมากำหนด,ให้มีหลักการเรื่องการจ่ายเงินสมทบจากหน่วยบริการต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน และให้มีหลักการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายและกำหนดให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยกำหนดให้สถานพยาบาลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต้องส่งรายงานเพื่อปรับปรุงแก้ไข และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำแผนพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานเกี่ยวเนื่องสาธารณสุขฯ จะหาข้อสรุปจากความเห็นและข้อเสนอแนะอีกครั้งหนึ่ง และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป