FAA ระบุในแถลงการณ์ว่า สายการบินหลายแห่งของสหรัฐจะต้องยื่นรายงานเพื่อยืนยันว่า แบตเตอรีลิเธียมไอออนของเครื่องบินโบอิ้ง 787 ซึ่งเป็นเครื่องบินพาณิชย์รุ่นใหม่ของบริษัท โบอิ้ง ภายใต้ชื่อ "ดรีมไลเนอร์"นั้น มีความปลอดภัย ก่อนที่จะให้บริการเที่ยวบินต่อไป
"ผลจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสายการบินของญี่ปุ่นที่ให้บริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787 เมื่อวานนี้ ทำให้ FAA ตัดสินใจออกคำสั่งด้านการบินฉุกเฉินเพื่อตรวจสอบความเสี่ยงที่แบตเตอรีของเครื่องโบอิ้ง 787 อาจจะลุกติดไฟ และเราได้สั่งให้ระงับการให้บริการด้วยเครื่องบินดังกล่าวเป็นการชั่วคราว" FAA ระบุ
นอกจากนี้ FAA ระบุว่า ทางสำนักงานจะร่วมมือกับบริษัท โบอิ้ง โค และสายการบินต่างๆในสหรัฐ "เพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการให้มีความถูกต้อง เพื่อช่วยให้เครื่องบินโบอิ้ง 787 ของสหรัฐสามารถกลับมาให้บริการด้วยความปลอดภัยโดยเร็วที่สุด" โดยปัจจุบัน สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ เป็นสายการบินสหรัฐเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการด้วยเครื่องโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ จำนวน 6 ลำ
แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเกิดอุบัติเหตุในช่วงเช้าวานนี้ โดยแบตเตอรีของเครื่องโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ที่ให้บริการโดยสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ส (ANA) ทำงานอย่างบกพร่องในระหว่างที่เครื่องบินเดินทางออกจากสนามบินยามากูชิ อูเบะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงโตเกียว จนทำให้ทางสายการบินต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉิน
นอกจากนี้ ยังเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับแบตเตอรีของเครื่องโบอิ้ง 787 ถึง 2 ครั้ง นับตั้งแต่เครื่องโบอิ้ง 787 ของสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส (JAL) เกิดควันขึ้นในตัวเครื่องเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่เมืองบอสตันของสหรัฐ เนื่องจากแบตเตอรีบกพร่อง
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สายการบิน ANA และ JAL ตัดสินใจหยุดให้บริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787 เพื่อตรวจสอบควมปลอดภัย โดยสายการบิน ANA มีฝูงบินโบอิ้ง 787 จำนวน 17 ลำ และสายการบิน JAL มี 7 ลำ
ทั้งนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิ้ง 787 ส่งผลให้ราคาหุ้นโบอิ้งร่วงลง 3.38% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 ม.ค.) สำนักข่าวซินหัวรายงาน