ก.เกษตรฯหนุนสร้างแก้มลิงบึงช่อระยะ 2 เอื้อพื้นที่เกษตร-แก้ปัญหาน้ำหลาก

ข่าวทั่วไป Monday January 21, 2013 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการแก้มลิงบึงช่อ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และโครงการจำแนกความเหมาะสมของพื้นที่ในการผลิตสินค้าเกษตรเศรษฐกิจเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)องค์การบริหารส่วนตำบลคลองมะพลับ อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ว่า จากการติดตามทั้งสองโครงการดังกล่าวที่ทางจังหวัดได้ทำแผนจะขอสนับสนุนงบกลางเพื่อพัฒนากลุ่ม 5 จังหวัดภาคเหนือเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร โดยเฉพาะโครงการแก้มลิงบึงช่อ ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลในอนุมัติงบประมาณเพื่อทำการขุดลอกพื้นที่บึงช่อซึ่งมีเนื้อที่รวม 2,055 ไร่ ระยะแรกจำนวน 35 ล้านบาท โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกพื้นที่ได้ประมาณ 300 ไร่ เก็บกักน้ำได้ประมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่ทำนาในฤดูฝนได้ 1,000 ไร่

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการแก้มลิงบึงช่อระยะสอง ภายใต้งบประมาณ 105 ล้านบาท เพื่อดำเนินการขุดลอกบึงในพื้นที่ที่ต้องขุดลอกอีก 700 ไร่ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูฝนได้ 3,000 ไร่ โดยเมื่อการขุดลอกแล้วเสร็จทั้ง 1,000 ไร่ บึงช่อสามารถเก็บกักน้ำได้รวม 5.2 ล้าน ลบ.ม. สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในฤดูฝนได้ 4,000 ไร่ และพื้นที่การเกษตรในฤดูแล้ง 2,000 ไร่ และที่สำคัญยังสามารถบรรเทาปัญหาน้ำหลากในพื้นที่ 3 ตำบล ที่ประกอบไปด้วย ต.ท่าสัก ต.บ้านดารา และ ต.ไร่อ้อย อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และ จ.สุโขทัย ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันน้ำที่จะไหลเข้าท่วมจังหวัดสุโขทัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำอีกด้วย

สำหรับแผนงานโครงการศึกษาเพื่อจำแนกความเหมาะสมของพื้นที่ในการผลิตสินค้าเกษตรเศรษฐกิจในกลุ่ม 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยเป็นผู้นำเสนอในการลงพื้นที่ติดตามครั้งนี้ จะใช้งบประมาณในการศึกษาและทำแปลงสาธิตจำนวนประมาณ 20 ล้านบาท กรอบระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี นั้นถือว่าสอดคล้อง และเชื่อมโยงกับแนวนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้มอบหมายให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดรวบรวมข้อมูลการทำการเกษตรว่าแต่ละพื้นที่ปลูกพืชชนิดใดบ้าง ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดได้เสนอกลับมายังกระทรวงเรียบร้อยแล้วทั้ง 77 จังหวัด ดังนั้น ทั้ง 5 จังหวัดก็จะสามารถนำข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ ไปเชื่อมโยงไปสู่การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจหรือโซนนิ่งของจังหวัดตนเองตามนโยบายรัฐบาล เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับพื้นที่ซึ่งจะสร้างจุดแข็งให้กับผลิตและสามารถแข่งขันได้เมื่อเข้าสู่เออีซีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ