"ที่พบบ่อยในฤดูหนาวมี 7 โรค ได้แก่ ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคสุกใส โรคหัดเยอรมัน โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อชนิดนี้ชอบอากาศเย็น" นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าว
จากข้อมูลที่สำนักระบาดวิทยารายงานตั้งแต่วันที่ 1-23 ม.ค.56 ทั่วประเทศพบมีผู้ป่วยทั้ง 7 โรคไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมทั้งหมด 21,745 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 16,745 ราย รองลงมา คือ โรคปอดบวม 3,037 ราย เสียชีวิต 4 ราย โรคไข้หวัด 660 ราย โรคสุกใส 631 ราย โรคมือ เท้า ปาก 628 ราย โรคหัด 40 ราย และโรคหัดเยอรมัน 4 ราย ตามลำดับ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดและปอดบวม ที่พบผู้ป่วยมากในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากอากาศหนาวเย็นกว่าพื้นที่อื่นๆ และตลอดปี 55 ที่ผ่านมา ทั่วประเทศพบผู้ป่วยไข้หวัดจำนวน 60,449 ราย เสียชีวิต 4 ราย ส่วนผู้ป่วยโรคปอดบวมพบ 194,084 คน เสียชีวิต 1,255 คน
ปลัด สธ.กล่าวว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคในฤดูหนาว และให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษในกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไตวาย โรคโลหิตจาง เป็นต้น เนื่องจากเสี่ยงเจ็บป่วยง่ายและเมื่อป่วยแล้วอาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป หากมีโรคติดต่อระบาดในพื้นที่ ให้ส่งทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ลงไปควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ทันที