รมว.สธ.ยันประชาชนไม่กระทบหลังรพ.รัฐปรับราคา ชี้อยู่ในระบบประกันสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Tuesday January 29, 2013 13:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรณีการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ถือเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน เนื่องจากประชาชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพจะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่ผู้ที่จ่ายเพิ่ม คือชาวต่างชาติ และผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือผู้ที่เจ็บป่วยไม่มากแล้วจ่ายค่ารักษาเอง โดยการปรับครั้งนี้เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รายการที่ปรับแก้ทั้งหมดรอบนี้รวมทั้งหมด 2,713 รายการ บริการที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือค่าบริการตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษ
"การปรับค่าบริการครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 มีหลักประกันสุขภาพ เป็นการเรียกเก็บจากกองทุนสุขภาพ ได้แก่ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นค่าบริการทั้งหมดจะเป็นการคิดค่ารักษา เรียกเก็บเงินกันภายในระหว่างสถานพยาบาลและกองทุนทั้ง 3 เท่านั้น และไม่กระทบคุณภาพบริการ การจ่ายยารักษายังคงเป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็คือผู้ที่ไม่ได้อยู่ใน 3 กองทุนข้างต้น เช่น ชาวต่างชาติที่เข้ามา หรือประชาชนไทยในระบบประกันสุขภาพที่ไม่ได้รับการรักษาตามขั้นตอน โดยไม่ได้เข้ารักษาในสถานพยาบาลที่ระบุไว้ตามสิทธิ์ก่อน ซึ่งเป็นการลัดขั้นตอนก็จะต้องรับผิดชอบเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเองตามความเป็นจริง" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ส่วนที่มีการปรับปรุงราคามี 8 หมวด เพื่อให้เป็นไปปัจจุบัน ตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ใช้อัตราเดิมมาตั้งแต่พ.ศ.2547 และเพิ่มรายการบริการใหม่ที่ยังไม่ครอบคลุมในรายการของกองทุนต่างๆ ในปัจจุบัน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในการให้บริการ รวมทั้งมีการปรับนิยามเพื่อแก้ไขปัญหาในการเบิกจ่าย โดยสรุปผลจากการปรับปรุงของคณะอนุกรรมการทั้ง 8 คณะ พบว่ามีรายการใหม่ที่เพิ่มขึ้น 758 รายการ จากเดิมที่มี 1,955 รายการ รวมมีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ รายการที่เพิ่มขึ้นสูงสุดคือค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษ เพิ่มร้อยละ 53 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมาคือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่มร้อยละ 23 รายการที่เพิ่มต่ำสุดคือค่าบริการเทคนิคการแพทย์ ร้อยละ 8

ข้อมูลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประชาชนอยู่ในระบบ 48 ล้านคน ป่วยและไปใช้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐ 32 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ 31 ล้านคน ใช้บริการประมาณ 4 ครั้งต่อปี และมีประมาณ 8- 9 แสนคนที่ใช้บริการมากกว่าปีละ 12 ครั้ง ที่เหลือประมาณ 16 ล้านคนไม่ได้ใช้บริการ ซึ่งอาจมาจากมีสุขภาพดี หรือรักษาที่คลินิค รพ.เอกชน หรือซื้อยากินเอง เนื่องจากไม่พอใจ หรือไม่สะดวกในการใช้บริการ หรือเข้าไม่ถึงการบริการในสถานพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะในคนกทม. ที่พบว่าร้อยละ 72 มักไปซื้อยากินเอง เพราะอาจไม่สะดวกที่จะไปรับบริการในเวลาทำงาน รัฐบาลกำลังหาแนวทางในการช่วยเหลือคนในกทม.ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าบริการใหม่ครั้งนี้ได้

นอกจากนี้ อัตราค่าบริการที่ปรับใหม่ในครั้งนี้ จะนำไปใช้อ้างอิงในการรักษาพยาบาลคนต่างชาติ เช่น กลุ่มที่ข้ามพรมแดนเข้ามารับการรักษาที่ไทย และกลุ่มที่ต้องการเดินทางมารับการรักษาในเมืองไทย ซึ่งไทยกำลังจะให้มีการทำประกันสุขภาพการเดินทาง หรือทราเวล อินชัวรันซ์ ขึ้น อัตรานี้จะสามารถนำไปคิดค่าใช้จ่ายกับบริษัทประกันได้ คาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายในสัปดาห์นี้ และประกาศใช้เป็นเกณฑ์การปฏิบัติประมาณเดือน มี.ค.56

"การปรับค่าบริการในครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบให้ต้องปรับค่าใช้จ่ายรายหัวของ สปสช.เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการเรียกเก็บจากกองทุนสุขภาพของของสถานพยาบาลที่รักษา ซึ่งได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอื่นๆ ทำให้ต้นทุนบริหารจัดการส่วนอื่นลดลงอยู่แล้ว เช่น การจัดซื้อยาร่วมกันโดยให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลาง เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองในการซื้อ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายของกระทรวงสาธารณสุขลดลงเกือบ 2,000 ล้านบาท และต่อไปจะดำเนินการวิเคราะห์และใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาล ทั้งคน เครื่องมือร่วมกันภายในเครือข่ายบริการ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกหลายพันล้านบาท ทำให้ไม่จำเป็นต้องของบรายหัวเพิ่มขึ้น" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ทั้งนี้ในระยะต่อไปอาจมีการหารือกันในกรอบอาเซียนว่าจะมีการคำนวณค่าธรรมเนียมแก่ชาวต่างชาติ ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารักษาในประเทศไทย

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนนั้น รมว.สาธารณสุข มองว่า ไม่มีเหตุผลที่จะปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลขณะนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาลตลอดเวลา ซึ่งไม่สามารถใช้การปรับขึ้นค่ายาของรัฐบาลมาเป็นข้ออ้างได้

อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ที่มีตัวแทนของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข และประชาชนเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งหากประชาชนมีปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล คณะกรรมการจะเข้าไปตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อลดความขัดแย้งทางกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ