สธ.เร่งจัดระเบียบดูแลสุขอนามัยแรงงานต่างด้าวหลังพบ 3 ปีใช้งบกว่าพันลบ.

ข่าวทั่วไป Monday February 4, 2013 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมช.สาธารณสุข เผยตั้งแต่ปี 53-55 รัฐต้องแบกรับภาระรักษาฟรีให้กับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้กระทรวงฯ เป็นเจ้าภาพดูแลต่างด้าวที่ระบบประกันสังคมไม่ได้คุ้มครอง พร้อมตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายทิศทางการแก้ไขให้ชัดเจนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยให้ครอบคลุมทั้งการลดภาระและประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรคติดต่อที่มาจากต่างด้าว

"ปัญหาค่ารักษาพยาบาลต่างด้าวของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลใน 57 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2553-2555 ไทยมีค่ารักษาต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา รวมทั้งหมด 1,189 ล้านกว่าบาท" นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข กล่าว

ขณะที่ผลการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวก่อนออกใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย เมื่อปี 54 ตรวจทั้งหมด 855,198 คน พบว่ามีโรคที่ต้องติดตามให้การรักษา เช่น วัณโรค, มาลาเรีย, โรคเท้าช้าง และโรคเรื้อน รวมทั้งหมด 6,195 คน และพบโรคต้องห้ามไม่ให้ทำงาน 594 คน ในจำนวนนี้พบเป็นผู้เสพสารเสพติดมากที่สุด 358 คน วัณโรคระยะติดต่อ 179 คน และโรคซิฟิลิสระยะที่ 3 จำนวน 15 ราย

"การพบโรคติดต่อเหล่านี้ ส่งสัญญาณอาจเกิดโรคระบาดในประเทศที่มาจากแรงงานต่างด้าวได้ หากไม่มีระบบป้องกันและควบคุมดีพอ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณได้เร่งแก้ไขและเตรียมการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" นพ.ชลน่าน กล่าว

สำหรับมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 ม.ค.56 ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพดูแลต่างด้าวที่ระบบประกันสังคมไม่ได้คุ้มครอง โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะกรรมการอำนวยการด้านสาธารณสุขในประชากรต่างด้าว มีผู้บริหารจากในและนอกกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม. สำนักงานประกันสังคม องค์การอนามัยโลก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ กรอบนโยบายดำเนินงานสาธารณสุขสำหรับประชากรต่างด้าว ตามนโยบายรัฐบาล 2.คณะทำงานด้านการสาธารณสุขในประชากรต่างด้าว ในการจัดบริการการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในประชากรต่างด้าว มี นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อวางระบบการดูแลครอบคลุมทั้งการดูแลการเจ็บป่วย และการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมป้องกันโรค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ