กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือร้อยละ 74.0 คิดว่าสื่อในปัจจุบันมีส่วนในการชี้นำทางการเมือง มีเพียงร้อยละ 26.0 คิดว่าไม่ชี้นำ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบสื่อดั้งเดิมและสื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบันพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 52.8 ระบุทีวีเป็นสื่อดั้งเดิมในปัจจุบันที่นิยมนำมาใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมืองมากที่สุด รองลงมาคือ วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ และวิทยุ ตามลำดับ ส่วนสื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) ในปัจจุบันที่นิยมนำมาใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมืองมากที่สุดหรือร้อยละ 21.7 ได้แก่ เฟสบุค (Face book) รองลงมาคือ ทวิสเตอร์ (Twitter) เว็บบอร์ด เว็บไซต์ อีเมล์ และไลน์ ตามลำดับ
ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 เคยพบเห็นข่าวฆาตกรรม การสังหารโหด ผ่านรายการโทรทัศน์ข่าวทีวีช่วงเวลาเด่นในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และกิจกรรมที่กำลังทำขณะดูข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดผ่านข่าวทีวี ช่วงเวลาเด่น อันดับแรกได้แก่ ร้อยละ 44.3 ระบุพักผ่อน อันดับสอง ได้แก่ ร้อยละ 31.8 ระบุทานอาหาร และอันดับสามหรือร้อยละ 30.3 ได้แก่ ทำงาน ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือกลุ่มตัวอย่างระบุมีกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวนครึ่งต่อครึ่งหรือร้อยละ 50.5 ที่กำลังอยู่ด้วยกันขณะดูข่าวฆาตกรรมการสังหารโหดของผู้คนในสังคม ผ่านข่าวทีวีช่วงเวลาเด่น ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และจากการสังเกต พบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับชมข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดของผู้คนในสังคมอยู่ด้วยนั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 มีอาการตกใจ รองลงมา ร้อยละ 14.5 ฝังใจกับข่าวนั้นๆ ร้อยละ 13.4 ร้องไห้ ส่วนอาการอื่นๆ ที่สังเกตเห็นคือ มีการใช้คำพูดรุนแรง และมีพฤติกรรมที่รุนแรงตามไปด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือร้อยละ 61.4 เห็นด้วยว่าสื่อมวลชนควรช่วยลดการนำเสนอ “ภาพข่าวฆาตกรรม ภาพการสังหารโหดร้ายของผู้คนในสังคม" ในรายการข่าวทีวีช่วงเวลาเด่น เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 85.6 ระบุว่ามีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนจากการนำเสนอ “ภาพข่าวฆาตกรรม ภาพข่าวสังหารโหดร้ายของผู้คนในสังคม"