ขณะที่การแก้ปัญหาด้านพลังงานในระยะยาวนั้น กระทรวงพลังงานมีแผนในการจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ เพิ่มเติม ตลอดจนการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนหันไปใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องไปในอนาคต
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในระหว่างนี้จะมีการรณรงค์ส่งเสริมการประหยัดพลังงานใน 3 ภาคส่วน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศในช่วงที่พม่าหยุดส่งก๊าซ โดยส่วนแรก คือ ภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งล่าสุดมีมติคณะรัฐมนตรีในการขอความร่วมมือให้ประหยัดพลังงาน เช่น การปิดไฟในช่วงที่ไม่จำเป็นอย่างน้อยวันละ 1 ชม., การปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาที่ 25 องศา เป็นต้น
ส่วนที่สอง คือ ภาคอุตสาหกรรม ได้ขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งให้ช่วยลดหรือหยุดเดินเครื่องการผลิตในช่วงวันที่ 5 เม.ย.56 ซึ่งเป็นวันที่คาดว่าจะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และส่วนที่สาม คือ ภาคประชาชน โดยขอความร่วมมือให้ช่วยประหยัดไฟฟ้าและลดการใช้พลังงานในส่วนที่ไม่จำเป็น ซึ่งความร่วมมือของทุกภาคส่วนในช่วงนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณพลังงานสำรองให้มากขึ้นและลดผลกระทบด้านไฟฟ้าดับในวันที่ 5 เม.ย.ให้ลดน้อยลงได้
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ในวันที่ 5 เม.ย.อาจจะเกิดปัญหาไฟฟ้าตกบ้างในเขตกรุงเทพฯ แต่หากทุกภาคส่วนเริ่มกันช่วยประหยัดพลังงานตั้งแต่วันนี้ ก็จะสามารถบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวันดังกล่าวลงได้ ทั้งนี้ในวันที่ 13 มี.ค. กระทรวงพลังงานพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการซ้อมแผนรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานของประเทศ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ประเทศหากเกิดภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานในอนาคต