นอกจากนี้ ในอนาคตคาดว่าจะมีการขยายความร่วมมือกับ ทางกฟผ. หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปยังเขื่อนต่างๆ ที่มีศักยภาพได้อีกกว่า 30 แห่ง ซึ่งแม้ว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานน้ำจะมีสัดส่วนเพียง 5% ของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งทรัพยากรอื่น แต่ก็นับว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำในเขื่อนต่างๆ เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้ ในช่วงที่ประเทศพม่าจะมีการปิดซ่อมท่อแก๊ส และของไทยรวม 3 ช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะเขื่อนในภาคตะวันตกที่มีศักยภาพที่จะสามารถระบายน้ำได้เพิ่มขึ้น เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ์ ที่เดิมมีการระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงที่มีการปิดซ่อมท่อแก๊สระยะเวลารวม 27 วันนั้น จะมีการเพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำที่ระบายทั้งสิ้นรวม 384 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 62.95 กิกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยสามารถลดการใช้พลังงานจากแหล่งอื่นมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยหากเป็นน้ำมันเตาคิดเป็นมูลค่าจำนวน 418 ล้านบาท หรือน้ำมันดีเซลคิดเป็นมูลค่า 632 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าแผนการจัดสรรน้ำในการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2555/56 ขณะนี้ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศทั้งในและนอกเขตชลประทานยังเป็นไปตามแผนและเป็นไปตามเป้าหมาย โดยขณะนี้มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งแล้วทั้งสิ้น 15.35 ล้านไร่ จากแผน 16.62 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรังมีการปลูกแล้ว 13.31 ล้านไร่ จากแผน 13.99 ล้านไร่ พืชไร่ พืชผัก ปลูกแล้ว 2.04 ล้านไร่ จากแผน 2.63 ล้านไร่ ซึ่งทางกรมชลประทานได้มีการบริหารจัดการและควบคุมระบบการระบายน้ำได้จนถึงเริ่มต้นฤดูกาลผลิตในต้นเดือนพ.ค.ได้