อย่างไรก็ตาม ไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกติดต่อกันมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว หลังพบรายสุดท้ายเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากมีรายงานพบผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคใกล้เคียง เพื่อความไม่ประมาท จึงต้องเร่งรัดมาตรการทั้งการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกและในคน และเตรียมความพร้อมในการควบคุมโรคหากพบสัตว์ปีกหรือคนติดเชื้อ โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเช่น จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นชายแดนที่ประชาชนทั้ง 2 ประเทศเดินทางไปมา ติดต่อค้าขายระหว่างกัน รวมทั้งอาจมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการที่สถานบริการสาธารณสุขฝั่งไทยให้เข้มงวดเป็นกรณีพิเศษ
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในการเตรียมพร้อมระบบการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนก ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ไว้ทุกแห่ง หากพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะติดเชื้อไข้หวัดนก โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้ ไอ หรือมีปัญหาปวดบวม ปอดอักเสบร่วมด้วย ให้ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกอย่างละเอียด เพื่อให้การดูแลตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และเตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการตรวจยืนยันเชื้อ
พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ให้รับประทานเนื้อสัตว์ปีกรวมทั้งไข่ ที่ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อน ขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าสัตว์ปีกรวมทั้งประชาชน อย่านำสัตว์ปีกที่กำลังป่วยหรือมีอาการผิดปกติหรือซากสัตว์ปีกมาชำแหละประกอบอาหาร เนื่องจากหากสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกอาจทำให้โรคติดสู่คนได้ ขอให้ประชาชนแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เพื่อทำการส่งตรวจวิเคราะห์เชื้อทางห้องปฏิบัติการ โดยขณะนี้มีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือเอสอาร์อาร์ที (SRRT) ทั่วประเทศกว่า 1,200 ทีม พร้อมลงพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบหรือได้รับรายงานว่าพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การป้องกันควบคุมไข้หวัดนก เป็นงานที่ต้องทำควบคู่กันทั้งในคนและในสัตว์อย่างต่อเนื่อง จากการเฝ้าระวังเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกร่วมกับกรมปศุสัตว์พบว่าไม่มีสัตว์ปีกในไทยติดเชื้อไข้หวัดนกมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ได้เฝ้าระวังและจัดระบบเฝ้าระวังในสัตว์ปีก โดยเฉพาะในฟาร์มเลี้ยง จะต้องเลี้ยงระบบปิดและมีปศุสัตว์ประจำทุกฟาร์มหากมีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ต้องเก็บมูลในลำไส้สัตว์ปีกไปตรวจเพาะเชื้อทุกครั้ง
ส่วนสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้านเรือนได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.เฝ้าระวังมาโดยตลอด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายก็ให้เก็บมูลในลำไส้มาตรวจเช่นกัน สำหรับในคน กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัด โดยเฉพาะในรายที่มีปอดอักเสบรุนแรงให้เก็บตัวอย่างเลือดและเสมหะจากลำคอส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อ จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี โรคไข้หวัดนกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาสู่คน โดยเชื้อไวรัสอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของสัตว์ปีก อาจติดมากับมือและเข้าสู่ร่างกายคนทางจมูกและตา ในการเก็บซากสัตว์ปีก ห้ามจับซากสัตว์ด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือยาง ถ้าไม่มีให้ใช้ถุงพลาสติกหนาๆสวมมือ เก็บใส่ลงในถุงพลาสติก รัดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปเผาหรือฝังหากใช้วิธีฝังควรราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือโรยปูนขาวก่อนกลบดินให้แน่น อย่าทิ้งซากสัตว์ลงในแม่น้ำ ลำคลอง