ทั้งนี้ ประชาชน ร้อยละ 32.80 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการดูแลรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, รองลงมา ร้อยละ 11.09 เป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก, ร้อยละ 8.30 เป็น รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง, ร้อยละ 3.75 เป็นรมว.กลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต
อย่างไรก็ตาม ประชาชน ร้อยละ 20.43 เห็นว่า รัฐบาล ทหาร ตำรวจ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้นำชุมชน คนในพื้นที่ หน่วยงานทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกัน และร้อยละ 19.15 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าจะมีใครสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนได้หรือไม่
รศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ที่ผ่านรัฐบาลได้มอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง เข้ามารับผิดชอบและแก้ไขในเรื่องนี้ และรัฐบาลได้วิธีทางการฑูตในการเจรจากับตัวแทนกลุ่มก่อการร้ายในประเทศมาเลยเซีย แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องการให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดในการบริหารประเทศ และเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารงาน ที่จะสามารถประสานงาน ก่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจจากทุกๆ ฝ่าย แต่ก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่รู้สึกท้อใจ สิ้นหวัง และผิดหวังกับนักการเมืองบางคนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นปัญหาที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง และยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน"รศ.ดร.พิชาย กล่าว