"ต้องทำให้องค์ความรู้สมุนไพรเป็นมาตรฐานก่อน สร้างความเข้าใจประชาชนว่ายาที่มาจากสมุนไพรเป็นที่ยอมรับของแพทย์แผนปัจจุบันและใช้ได้ผล...กำลังอยู่ในขั้นตอนประเมินผลว่ายาสมุนไพรที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วจำนวน 71 รายการมีการใช้มากน้อยเพียงใด และสาเหตุที่แพทย์ไม่ใช้ยาสมุนไพรเพราะไม่เชื่อถือที่มาของยา หรือมีปริมาณไม่เพียงพอ หรือไม่เชื่อในสรรพคุณยา" นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าว
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา รมว.สาธารณสุข ได้เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ระหว่าง นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, นพบุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการร่วมมือกันพัฒนายาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดย อย.ทำหน้าที่ร่างมาตรฐานการผลิตยาสมุนไพรเพื่อรับประกันคุณภาพขั้นตอนการผลิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ เพื่อดูสาระสำคัญในสมุนไพร และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ดำเนินการด้านวิจัยสมุนไพร เพื่อแสดงศักยภาพของไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 สามารถขยายผลทางเศรษฐกิจได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีและใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักมากขึ้น
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การผลักดันสมุนไพรครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนนโยบายเมดิคัลฮับของรัฐบาล โดยจะคัดเลือกสมุนไพรเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนขึ้นมา เช่น แต่ละปีไทยมีการนำเข้าสารสกัดจากใบบัวบกเพื่อใช้ทำเครื่องสำอางถึงปีละ 20,000 ล้านบาท หากมีการสนับสนุนส่วนนี้ในเชิงธุรกิจก็จะเป็นการลดการเสียดุลการค้าของไทยได้มาก และสร้างอาชีพให้กับคนไทยด้วย แต่ไม่ใช่สนับสนุนให้ปลูกอย่างเดียว จะต้องพัฒนาถึงขั้นสกัดสารเคมีสำคัญตัวนั้นๆ ออกมา เพื่อไปทำส่วนประกอบของเครื่องสำอางต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยการผลักดันทุกรูปแบบ ในอนาคตเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วคาดหวังว่าประชาชนจะมีการใช้สมุนไพรที่ได้มาตรฐาน และไม่ใช่ยาทางเลือก
"แพทย์ทุกคนใช้ยาดังกล่าวรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยได้ เช่น ไอ เจ็บคอ เป็นหวัด ปวดท้อง ปวดหลัง ซึ่งปกติแพทย์กว่าร้อยละ 75 รักษาอาการป่วยตามอาการอยู่แล้ว เช่น ปวดหัวให้กินพาราเซตามอล ปวดท้องก็ให้กินยาลดการบิดตัวของลำไส้ เจ็บคอก็ให้ยาละลายเสมหะ สมุนไพรไทยก็มีฤทธิ์เหล่านี้เช่นกัน" นพ.ประดิษฐ กล่าว
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า หากเป็นโรคหนักๆ เช่น มะเร็ง เชื่อว่าสารจากสมุนไพรหลายๆ ตัวมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้รักษา แต่ยังอยู่ในขั้นวิจัยอยู่ ดังนั้นจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มแพทย์ให้ใช้สมุนไพรรักษาการเจ็บป่วยเบื้องต้น และไม่มองว่าสมุนไพรเป็นแค่ทางเลือก โดยได้เร่งรัดให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เร่งผลักดันให้เป็นมาตรฐานการรักษาต่อไป
ช่วงปี 2556-2560 กระทรวงฯ กำหนดเป้าหมายบรรจุยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างน้อยร้อยละ 10 ของรายการยาทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 878 รายการ โดยรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติควรมีจำนวน 87 รายการ ขณะนี้บรรจุแล้ว 71 รายการ คิดเป็นร้อยละ 8.09 ซึ่งการเพิ่มรายการยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติจะเป็นอีกทางเลือกเพิ่มขึ้นของแพทย์ผู้สั่งยาในการรักษา หรือส่งเสริมสุขภาพแบบผสมผสานแก่ประชาชน และกระตุ้นให้เพิ่มมูลค่าการใช้ยาจากสมุนไพรมากขึ้น เป็นการเพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชาติ ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศได้" นพ.ประดิษฐ กล่าว
ในปีนี้พบว่ามี 11 ชนิดที่น่าจะมีศักยภาพและมีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถนำมาวิจัยต่อยอด พัฒนาเป็นยาจากสมุนไพรที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับสามารถนำมาบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ ได้แก่ 1.พริก 2.ใบฝรั่ง 3.ขมิ้นชัน 4.บัวบก 5.พรมมิ 6.ว่านชักมดลูก 7.กวาวเครือขาว 8.กระชายดำ 9.ขิง 10.ปัญจขันธ์ และ11.หม่อน ซึ่งพืชเหล่านี้มีข้อมูลเบื้องต้นที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นยา สำหรับรักษาอาการหรือโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขได้
ด้าน นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในปี 2555 มูลค่าการใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศมีประมาณ 363 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.82 ของการใช้ยาทั้งหมด ยาสมุนไพรที่ประชาชนนิยมใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ขมิ้นชันรักษาอาการของระบบทางเดินอาหาร แน่นท้องจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ 2.ไพลใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดบวม ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และ 3.ฟ้าทะลายโจรใช้รักษาอาการของระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการหวัด เจ็บคอ
การพัฒนาสมุนไพรได้ตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย นักวิชาการจากทั้ง 3 หน่วยงาน นักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ในการสนับสนุนข้อมูลและคัดเลือกสมุนไพรที่จะวิจัยและพัฒนาต่อยอด โดยจะร่วมกันจัดทำแผนการวิจัยตามขั้นตอน เพื่อให้สมุนไพรที่น่าเชื่อถือ และเร่งผลักดันบรรจุเพิ่มเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างน้อยอีก 15 รายการภายใน 3 ปี เพื่อนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนอย่างแพร่หลาย ทั้งในโรงพยาบาล และส่งเสริมให้จำหน่ายในร้านขายยาต่อไปในอนาคต