เอแบคโพลล์เผย ปชช.หนุนเงินกู้ 2 ล.ลบ.ช่วยพัฒนาปท.แต่กังวลภาระหนี้-ทุจริต

ข่าวทั่วไป Saturday March 30, 2013 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวปุณฑรีย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทในมุมมองของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,037 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 — 29 มีนาคม 2556 พบว่า ข้อดีของ เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.2 คิดว่าการกู้เงินครั้งนี้จะสามารถพัฒนาประเทศไปในทางที่ดีขึ้นได้ รองลงมาร้อยละ 14.0 คิดว่าระบบการคมนาคมของประเทศจะดีขึ้น ร้อยละ 7.4 คิดว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น ร้อยละ 6.6 คิดว่าประชาชนจะมีความกินดีอยู่ดีมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 3.5 คิดว่าจะมีการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคมมากยิ่งขึ้น และอื่นๆ อาทิ การพัฒนาด้านการศึกษา การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย เป็นต้น

ส่วนข้อเสียพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.1 ระบุว่าเป็นการสร้างภาระหนี้สินให้กับประชาชน รองๆ ลงมา ร้อยละ 15.6 ระบุเป็นต้นตอของปัญหาทุจริต คอรัปชั่นให้รุนแรงขึ้น ร้อยละ 5.5 ระบุทำให้ประชาชนต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของนักการเมือง ร้อยละ 4.4 ระบุค่าครองชีพสูงขึ้น ร้อยละ 2.9 ระบุไม่คุ้มกับประโยชน์ที่จะได้รับ และอื่นๆ อาทิ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่ลง เงินรั่วไหล อาจทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา เป็นต้น

ส่วนความวางใจต่อความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณระหว่างรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคเพื่อไทย พบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่าหนึ่งในสามหรือร้อยละ 38.0 วางใจต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 29.1 วางใจต่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 32.9 ไม่ทราบ/ไม่มีความเห็น

กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 57.1 เห็นชัดเจนว่าเงินทุกบาทที่ใช้จ่ายในแต่ละวันเป็นการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ที่รัฐบาลต่างๆ เคยกู้มาจากต่างชาติ ซึ่งเห็นได้จากค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคาสินค้า บริการ น้ำมัน เชื้อเพลิง เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 42.9 ระบุไม่เห็นชัดเจน

ที่น่าสนใจคือร้อยละ 90.0 อยากเห็นนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินออกมาวิเคราะห์ให้ทราบว่า ต้องจ่ายเงินที่รัฐบาลไปกู้จากต่างชาติมาเป็นเงินเท่าไหร่ต่อเดือน และร้อยละ 91.4 อยากทราบว่า เงินกู้ของรัฐบาลชุดใดที่กู้มาแล้วปัจจุบันเกิดผลลัพธ์ดีต่อประเทศคำนวณเป็นเม็ดเงินให้เห็นกันชัดๆ และ ร้อยละ 51.9 ระบุการทำหน้าที่ในการตรวจสอบของฝ่ายค้านนั้นเป็นไปเพื่อต้องการสกัดกั้นผลประโยชน์ ทางการเมืองมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 48.1 ระบุเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่า

เมื่อเปรียบเทียบจุดดีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า จุดดีสามอันดับแรกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือ อันดับหนึ่ง ได้แก่ เป็นคนซื่อตรง มือสะอาด เป็นคนดี ตรงไปตรงมา มีจุดยืนชัดเจน ร้อยละ 32.0 อันดับสอง ได้แก่ บริหารประเทศและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดี ไม่ใช้ความรุนแรง ร้อยละ 14.3 และอันดับสาม ได้แก่ รักและเข้าถึงประชาชน ยิ้มแย้มแจ่มใส มีสัมมาคารวะ เป็นกันเอง ร้อยละ 12.9 ตามลำดับ

สำหรับจุดดีสามอันดับแรกของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า อันดับแรก ได้แก่ บริหารงานได้ดี ทำงานเก่ง วางตัวดี มีความรับผิดชอบ มีความเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่างที่ดี ร้อยละ 34.3 อันดับสอง ได้แก่ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส มีสัมพันธไมตรีกับต่างชาติที่ดี ร้อยละ 22.6 และอันดับสาม ได้แก่ ขยัน ตั้งใจทำงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ร้อยละ 17.2 ตามลำดับ

สิ่งที่อยากเห็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรากฏตัวต่อสาธารณะในการทำกิจกรรมร่วมกัน พบว่า อันดับแรก ได้แก่ ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน ร้อยละ 80.8 อันดับสอง ได้แก่ ลงพื้นที่ภัยพิบัติเดือดร้อนของประชาชนร่วมกัน ร้อยละ 75.9 อันดับสาม ได้แก่ ขึ้นเวทีแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นร่วมกัน ร้อยละ 75.0 อันดับสี่ ได้แก่ ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ร่วมกัน ร้อยละ 71.8 อันดับห้า ได้แก่ ช่วยเหลือดูแล เด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ตามบ้านสงเคราะห์ต่างๆ ร้อยละ 71.2 และอื่นๆ อาทิ พบปะกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ทำกิจกรรมทางศาสนาเข้าวัดทำบุญร่วมกัน ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ