ในปีที่ผ่านมา ผลจากการสำรวจสภาวะทรัพยากรบริเวณเขตปิดอ่าวฯ พบว่า ในช่วงระหว่างมาตรการฯ และช่วงท้ายมาตรการฯ มีอัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ย 292 และ 257 กก./ชม. ซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น 1.7 และ 1.5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนมาตรการฯ ซึ่งมีปริมาณอยู่ที่ 168 กก./ชม. ประกอบกับข้อมูลจากผลของการทำประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน ที่พบว่าได้ผลผลิตในพื้นที่มากกว่า 86,017 ตัน มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่มีปริมาณอยู่ที่ 85,262 ตัน รวมไปถึงพื้นที่บริเวณที่เคยเสื่อมโทรม ปลาผิวน้ำ และปลาหน้าดินที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิดที่เคยหายไป ตลอดจนทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดน้อยลง จากการทำประมงที่มากเกินสมดุลของธรรมชาติที่จะผลิตทดแทนได้ทัน (Over fishing) กลับมาฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น จึงสามารถยืนยันได้ว่ามาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน สามารถรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำที่กำลังมีไข่ และเข้ามาวางไข่เลี้ยงลูก ให้เพิ่มปริมาณขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศ ได้อย่างแน่นอน
นายศิริวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2556 นี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เข้มงวดกวดขันไม่มีการผ่อนผัน รวมทั้งขอความร่วมมือจากชาวประมงและทุกคนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการตามมาตรการปิดอ่าวฯ อย่างเข้มแข็ง อันจะส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
ด้านนายสุรจิตต์ อินทรชิต รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเครื่องมือทำการประมงต้องห้ามตามประกาศฉบับนี้ ประกอบด้วย 1) เครื่องมืออวนลากทุกประเภททุกขนาดที่ใช้ประกอบเรือกล 2) เครื่องมืออวนประเภทล้อมจับทุกชนิด 3) เครื่องมืออวนติดตาที่มีช่องตาเล็กกว่า 4.7 ซม. สำหรับเครื่องมือที่ยกเว้นให้ทำการประมงได้ตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่ เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตักทำการประมงเฉพาะในเวลากลางวันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เครื่องมืออวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบกับเรือกล (เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเข้มีคานถ่าง หรือ อวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกล ซึ่งใช้เชือกเส้นใยประดิษฐ์เป็นสายลาก) เฉพาะในเวลากลางคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น และเครื่องมืออวนโป๊ะ
ส่วนบทกำหนดโทษ หากมีชาวประมงรายใดฝ่าฝืนใช้เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในพื้นที่ที่ได้ประกาศปิดอ่าวฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ห้าพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ โดยขอให้พี่น้องชาวประมง โปรดให้ความร่วมมือกับทางราชการ งดทำการประมงด้วยเครื่องมือดังที่กล่าวข้างต้น ในพื้นที่ที่กำหนด เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่วางเป้าหมายไว้ คือ “งดจับปลาฤดูมีไข่ อนุรักษ์ไว้ใช้อย่างยั่งยืน