ทั้งนี้ ระบบคอมพาร์ทเมนต์สัตว์ปีกปลอดโรคไข้หวัดนก จะให้ความสำคัญการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่เชื่อมโยงภายในหน่วยงานและสถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคเพื่อให้ฝูงสัตว์ปีกมีสถานะปลอดจากโรคไข้หวัดนก โดยมีการจัดการที่สำคัญ 4 หมวดหลัก ได้แก่ 1. มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับสถานประกอบการ ตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม หรือ HACCP สำหรับโรคไข้หวัดนก 2. การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ 3. การควบคุมโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และ 4. การตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้สามารถติดตามข้อมูลการผลิตได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร เริ่มจากโรงงานอาหารสัตว์ ถึงโรงงานอาหารแปรรูป
สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ในช่วงนี้ต้องใส่ใจและเข้มงวดกับมาตรการป้องกันโรคที่ดำเนินการอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดนกได้ ขณะเดียวกัน ควรปฏิบัติตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ ทั้งในด้านการดูแลสัตว์เลี้ยง การควบคุมและการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกออกจากพื้นที่ ตลอดจนการกำจัดสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตายอย่างถูกต้อง ด้วยวิธีการเผาหรือฝังกลบอย่างถูกวิธี หากมีสัตว์ปีกตายผิดปกติ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทันที
ในส่วนของผู้บริโภค ควรเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตจากกรมปศุสัตว์ หรือเนื้อสัตว์ปีกสดที่มีกระบวนการผลิตทันสมัย ถูกสุขอนามัย บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกมิดชิด ขณะเดียวกันต้องบริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่ผ่านการปรุงสุกเท่านั้น ที่สำคัญคือการปฏิบัติตามหลักการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ คือ การทานร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ