ในการเตรียมพร้อมระบบการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนก ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ไว้ทุกแห่ง หากพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะติดเชื้อไข้หวัดนก โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้ ไอ หรือมีปัญหาปวดบวม ปอดอักเสบร่วมด้วย ให้ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกอย่างละเอียด เพื่อให้การดูแลตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และเตรียมพร้อมห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการตรวจยืนยันเชื้อ
พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ให้รับประทานเนื้อสัตว์ปีกรวมทั้งไข่ ที่ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อน ขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าสัตว์ปีกรวมทั้งประชาชน อย่านำสัตว์ปีกที่กำลังป่วยหรือมีอาการผิดปกติหรือซากสัตว์ปีกมาชำแหละประกอบอาหาร เนื่องจากหากสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกอาจทำให้โรคติดสู่คนได้ ขอให้ประชาชนแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เพื่อทำการส่งตรวจวิเคราะห์เชื้อทางห้องปฏิบัติการ
ทั้งนี้ การเฝ้าระวังไข้หวัดนกของประเทศไทย เป็นการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว (ONE HEALTH) ของ 3 กระทรวง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังในคน กระทรวงเกษตรฯ คือกรมปศุสัตว์ เฝ้าระวังในสัตว์ และกระทรวงทรัพยากรฯ เฝ้าระวังในสัตว์ปีกธรรมชาติ
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ทั่วโลก ในปี 2556 นี้องค์การอนามัยโลกรายงานผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อใน 3 ประเทศคือกัมพูชา จีน และอียิปต์ มีผู้ป่วยรวม 10 ราย เสียชีวิต 7 ราย และตั้งแต่ปี 2546-2556 มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกรวม 620 ราย เสียชีวิต 367 ราย ใน 15 ประเทศ