"ปลอดประสพ"เล็งผุดโปรเจ็คต์ผันน้ำโขง-สาละวินเข้าอีสานจ่อใช้งบ 2 แสนลบ.

ข่าวทั่วไป Thursday April 18, 2013 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)มองปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ภาพรวมปี 56 พื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางไม่ได้มีปัญหามากกว่าเดิม และสถานการณ์อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปี 54 เผยเตรียมผุดโครงการผันน้ำเพิ่มน้ำต้นทุนในภาคอีสานภายใน 2-3 ปี คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณก้อนใหญ่อีกครั้งไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

สำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งหนักสุดในปีนี้คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่มีฝนตกน้อยกว่าปกติ 20% โดยมีพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงอยู่ 2-3 จุดที่มีน้ำต้นทุนในการทำน้ำประปาน้อยกว่าปกติ จึงกระทบน้ำกินน้ำใช้ ขณะที่น้ำเพื่อการเกษตรไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะได้แจ้งเกษตรกรตั้งแต่ต้นแล้วว่าปีนี้น้ำจะน้อย ทำให้เกษตรกรเกือบทั้งหมดไม่ได้ฝืนเพาะปลูกในช่วงแล้งนี้ หากจะมีบ้างเพียงเล็กน้อยในบางจุด ซึ่งเกษตรผู้ปลูกรู้อยู่แล้วและต้องรับผลที่จะตามมาเอง

"ในพื้นที่ภาคกลางสำหรับน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการผลักดันน้ำทะเลไม่น่าจะมีปัญหาเพราะขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ที่มีอยู่ตอนนี้ สามารถใช้ไปได้ถึงปลายเดือน เม.ย.-ต้นเดือน พ.ค.แน่นอน เมื่อถึงตอนนั้นฝนตกแน่นอนแล้ว ไม่น่ามีอะไรที่เป็นห่วง สิ่งที่เป็นห่วงคือกลัวฝนจะมาช้ามากกว่าเรื่องการขาดแคลนน้ำในช่วงนี้ เพราะถ้าฝนมาช้าการเริ่มต้นทำนาตามปกติจะมีปัญหา และถ้าฝนมาช้าและปริมาณน้อย จะทำให้น้ำสะสมปีหน้าจะน้อยตามไปด้วย ปีต่อไปจะลำบากกว่านี้ ซึ่งตามสถิติมักจะเกิดปัญหาภัยแล้งติดต่อกัน 2 ปีเสมอ"นายปลอดประสพ กล่าว

นายปลอดประสพ กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นตอปัญหาหลักคือมีน้ำต้นทุนน้อยไม่เพียงพอกับขนาดพื้นที่ เพราะฉะนั้นจะต้องจัดการเพิ่มน้ำต้นทุนเสียก่อน ไม่เช่นนั้นหากทำคลองส่งน้ำแต่ไม่มีน้ำให้ส่งก็เปล่าประโยชน์ โดยแนวทางการเพิ่มน้ำต้นทุนที่มองไว้มี 3 แนวทาง คือ การผันน้ำจากลุ่มน้ำโขงเข้ามาโดยตรงจากแนวชายแดน วิธีต่อมาคือ ผันน้ำเข้ามาจากลาว และวิธีสุดท้ายคือผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินเข้ามาทางภาคเหนือแล้วต่อมาลงทางภาคอีสาน ซึ่งเป็นวิธีที่ยาก ดังนั้น แนวทางที่ง่ายที่สุดคือผันน้ำจากลุ่มน้ำโขง

"หลังจากจัดการปัญหาน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาและอีก 17 ลุ่มน้ำรอบแรกเสร็จแล้ว ในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า ผมจะขึ้นโปรเจกต์การเพิ่มน้ำต้นทุนในภาคอีสานพร้อมๆ กับจะทำเรื่องกันสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลหนุนสูง ทั้ง 2 โครงการจะมาพร้อมๆกันในวันข้างหน้า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าทำการศึกษาแน่ เพราะเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงทุกชาติ เขาเดินหน้าหมดแล้ว เราต้องศึกษาต้องทำแล้ว ซึ่งเรื่องงบประมาณเป็นแสนล้านแน่ การเพิ่มน้ำต้นทุนในภาคอีสานไม่แพงเท่าไหร่ ประมาณ 100,000 ล้านบาทเศษก็เอาอยู่ แต่การสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลอาจจะแพงหน่อย รวมความแล้วต้องการแบบ 350,000 ล้านบาทอีกรอบหนึ่ง แต่จำนวนเงินอาจจะไม่มากเท่า ประมาณ 200,000 ล้านบาท...ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะทำแบบจบตั้งแต่หัวถึงหาง"

สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 350,000 ล้านบาทแม้จะเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นหลัก แต่ก็สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ด้วย โดยเฉพาะโครงการปลูกป่า 11,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นน้ำ เพราะหากป่าไม่ดีฝนก็จะไม่ตก หรือตกมาแล้วก็ไม่สามารถเก็บน้ำได้ ในทางตรงกันข้ามหากมีป่าที่ดี ป่าจะช่วยซับน้ำได้เป็นอย่างดี เมื่อฝนตกจะอุ้มน้ำไว้แล้วค่อยๆระบายออกมา มีน้ำไหลเติมทำให้เขื่อนมีน้ำเต็มอยู่นานตลอดเวลา งบประมาณ 11,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูป่าจะช่วยเพิ่มการซับน้ำ และขั้นตอนการทำงานปลูกป่าก็จะไม่ปลูกแบบสะเปะสะปะ แต่ปลูกโดยใช้หลักวิชาการในพื้นที่ วิธีการ และชนิดต้นไม้ที่เพิ่มการซับน้ำ อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ในแผนจะมีการสร้างเขื่อนขนาดเล็กและขนาดกลางเพิ่มอีกจำนวน 30 ลูก ดังนั้น จะช่วยเพิ่มการกักเก็บน้ำใช้ในช่วงแล้งได้มากกว่าเดิมประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกันนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพลำน้ำ ขุดลอกแม่น้ำ ลำคลอง ตั้งแต่ จ.ชัยนาทขึ้นไป ส่วนนี้จะมีความสามารถกักเก็บน้ำจากการขุดลอกอีกประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. รวมกับแก้มลิงที่จะสร้างเพิ่มเหนือ จ.นครสวรรค์ จะเพิ่มการกักเก็บน้ำได้น้ำอีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. และโครงการอื่นๆที่มีส่วนจะเพิ่มการกักเก็บน้ำได้อีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.

ดังนั้น หลังดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 350,000 ล้านบาทแล้ว ประเทศไทยจะมีน้ำเพิ่มอีกประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. หรือเท่ากับน้ำที่ประเทศไทยมีอยู่ในช่วงที่เกิดภัยแล้งนี้ ซึ่งวินาทีนี้ในอีกหลายปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีน้ำ 8,000 ล้าน ลบ.ม. ปัญหาภัยแล้งจะเบาบางลงในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ