"ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยในโครงสร้างป้ายโฆษณา มีความกังวลว่าหากเกิดพายุหรือลมกันโชกแรงอาจทำให้ป้ายโฆษณาล้มและพัดใส่บ้านเรือนและที่อยู่อาศัย และอาจเกิดอันตรายกับประชาชนได้" นายสุทธิชัย กล่าว
ทั้งนี้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตควรลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการเข้มงวดในการจัดเก็บป้ายโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ในพื้นที่อย่างจริงจัง ทั้งป้ายที่ติดตั้งโดยไม่ได้ขออนุญาต และป้ายที่ขออนุญาตถูกต้องที่จะต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรงให้เป็นไปตามกฎหมาย
นายสุทธิชัย กล่าวว่า ป้ายโฆษณาจะต้องมีขนาดไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องมีความสูงจากพื้นดินไม่เกิน 30 เมตรและกว้าง(ความยาวป้าย) ไม่เกิน 32 เมตร รวมทั้งป้ายโฆษณาต่างๆ ที่ใช้โครงสร้างไม้ในการติดตั้งบริเวณทางเท้าริมทางเดิน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกลมพัดทำให้จะล้มและพัดวัสดุเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ในฐานะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการสามัญ สภา กทม. ที่เกี่ยวข้องในการติดตามปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย จะประชุมร่วมกับสมาชิกสภา กทม.ทั้ง 50 เขตเพื่อลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาของผู้บริหาร ทั้งยังเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นเหมือนเหตุการณ์ป้ายโฆษณาล้มในพื้นที่เขตจอมทองเมื่อวันที่ 12 ส.ค.55
นายสุทธิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อบัญญัติที่สภา กทม.ที่ออกกฎเพื่อควบคุมการติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2549 ห้ามก่อสร้างอาคารประเภทป้ายที่มีพื้นที่รวมกันเกิน 5 ตารางเมตร หรือสูงเกิน 12 เมตรภายในระยะ 50 เมตร จากเขตทางพิเศษ ทางรถไฟ ถนนสายสำคัญหลายสาย พื้นที่ภายในรัศมี 200 เมตรโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ พระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ กับพื้นที่ภายในระยะ 50 เมตรจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ยกเว้นป้ายบางอย่างตามที่กำหนดไว้ในประกาศ แต่ต้องไม่ใช่ป้ายที่ติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าอาคาร ซึ่งเขตจะต้องเข้มงวดให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด