และจากการติดตาม ประเมินการดำเนินการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือทางด้านการเกษตรที่ได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2553 ทั้งสองประเทศได้ยืนยันร่วมมือทางด้านการเกษตรระหว่างกันต่อไป โดยฝ่ายไทยจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่บุคลากรของภูฏานทั้งในเรื่องการผลิต การปรับปรุงพันธุ์สัตว์และการบริหารจัดการสุขภาพสัตว์ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าเกษตร การบริหารจัดการระบบความปลอดภัยด้านอาหาร การตลาดสินค้าเกษตร การสหกรณ์และการบริหารจัดการสหกรณ์ การผลิตและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการและการออกแบบภูมิทัศน์สวนไม้ดอกไม้ประดับ
"สาระสำคัญในบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางด้านการเกษตร (MOU) ที่ได้มีการลงนามร่วมกันนั้น ถือเป็นกลไกและกรอบความร่วมมือที่สำคัญกับประเทศภูฏาน เนื่องจากทั้งสองประเทศ มีความคล้ายคลึงกันทั้งในด้านศาสนา แนวคิด จิตใจ รวมถึงการเป็นประเทศเกษตรกรรม และเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านการเกษตร ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาด้านการเกษตรภูฏานได้ต่อไป รวมทั้งเป็นช่องโอกาสการค้าและการลงทุนของประเทศไทยที่จะขยายการลงทุนสู่ประเทศภูฎานในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนด้านการผลิตอาหารที่ได้มาตรฐาน รองรับการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว อันเป็นความร่วมมือสำคัญในการยกระดับความมั่นคงด้านอาหารของทั้งสองประเทศด้วย"นายยุคล กล่าว