กรมชลฯ เพิ่มระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯ ช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็มกระทบอุปโภค-บริโภค

ข่าวทั่วไป Wednesday April 24, 2013 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และคลองชัยนาท — ป่าสัก มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มในคลองพระองค์ไชยานุชิต ที่มีสาเหตุจากพื้นที่ทางตอนบนตามริมแนวคลองระพีพัฒน์ ยังคงมีการทำนาปรังครั้งที่ 2 เพิ่มขึ้นอีก ทำให้ปริมาณน้ำที่จะไหลลงทางตอนล่างเพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำประปา ได้รับผลกระทบอีกครั้งหนึ่ง

อนึ่ง ในช่วงเดือนเมษายนที่ผานมา ได้เกิดปัญหาความเค็มในคลองพระองค์ไชยานุชิตตอนล่าง บริเวณจุดสูบน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งกรมชลประทาน ได้แก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และคลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่านคลองระพีพัฒน์ไปลงคลองพระองค์ไชยานุชิต เพื่อเจือจางน้ำเค็มในคลองพระองค์ไชยานุชิต จนกระทั่งสถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะปกติไปครั้งหนึ่งแล้ว

ทั้งนี้ การจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 55/56 กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างไว้อย่างเพียงพอ แต่เนื่องจากมีการทำนาปรังครั้งที่ 2 ตามริมแนวคลองระพีพัฒน์เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ได้ประกาศขอความร่วมมือให้งดทำนาปรังครั้งที่ 2 ไปแล้ว ทำให้ปริมาณน้ำที่จัดสรรเพื่อการอุปโภค-บริโภค สำหรับพื้นที่ตอนล่าง ถูกเกษตรกรสูบไปใช้ในการทำนา จึงเกิดปัญหาน้ำเค็มในคลองพระองค์ไชยานุชิต จนส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค อำเภอบางคล้า

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลืออยู่ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ เท่านั้น โดยจะต้องสงวนน้ำส่วนหนึ่งไว้สำหรับสนับสนุนการทำนาปีในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปี ไว้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อการผลิตน้ำประปาและการเพาะปลูกข้าวนาปี ขอให้เกษตรกรงดทำนาปรังครั้งที่ 2 เพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ