หลังจากองค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ย้ำเตือนให้ทุกประเทศเฝ้าระวังไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ที่พบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่จีนอย่างใกล้ชิด โดยพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9)ที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายแรกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นชายวัย 53 ปีทำงานที่เมืองซูโจว ประเทศจีน มีอาการป่วย 3 วันก่อนเดินทางกลับไต้หวันเข้ารับการรักษาตัวเมื่อวันที่ 16 เม.ย.56 ขณะนี้อาการค่อนข้างหนัก โดย WHO รายงานถึงวันที่ 23 เม.ย.56 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 108 ราย เสียชีวิต 22 ราย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อชนิดนี้ ทั้งในคน ในสัตว์ปีกที่เลี้ยงและนกในธรรมชาติแต่อย่างใด รวมทั้งไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมา ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ WHO ยังไม่พบหลักฐานการติดต่อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 จากคนสู่คน และยังไม่พบเชื้อนี้ในประเทศไทย และยังไม่มีข้อห้ามการเดินทางไปต่างประเทศก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขขอแนะนำให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและมีอาการป่วยเป็นไข้หวัดไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาและการควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด
และขอให้ประชาชนช่วยรักษาพฤติกรรมที่ดีตามได้เคยปฏิบัติมาสมัยไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ เช่น การล้างมือ หากป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้พักผ่อนที่บ้านจนกว่าจะหาย และใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกทั้งเป็นและตาย โดยเฉพาะเด็กๆขอให้ผู้ปกครองเพิ่มความระมัดระวัง ส่วนในกลุ่มของผู้ทำงานสัมผัสสัตว์ปีก เช่นเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ผู้เลี้ยง ผู้ขนส่ง ชำแหละและจำหน่ายสัตว์ปีก ขอให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ประการสำคัญจะต้องไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตามมาชำแหละขายหรือรับประทานอย่างเด็ดขาด