โชคดีที่ไวรัสชนิดนี้ยังไม่เพร่ระบาดจากคนสู่คน ขณะที่หน่วยงานต่างๆของจีนและต่างประเทศได้ร่วมมือกันเพื่อวินิจฉัยและป้องกันไม่ให้ไวรัสชนิดใหม่นี้ลุกลามออกไป โดยกระทรวงคลังของจีนได้จัดสรรงบถึง 48.6 ล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในมนุษย์
โดยงบประมาณที่ได้มาจะนำไปใช้อุดหนุนโครงการต่างๆ เพื่อติดตามสถานการณ์การติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และปอดบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ
ขณะที่กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมได้สั่งการให้หน่วยงานท้องถิ่นให้เงินสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือด้านการแพทย์แก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนก H7N9 เพื่อลดภาระของผู้ป่วย
ผลการวิจัยเบื้องต้นที่เผยแพร่โดย The Lancet ชี้ให้เห็นว่า ตลาดสดที่มีการซื้อขายสัตว์ปีกในจีนนั้น มีแนวโน้มว่า จะเป็นต้นตอของการติดเชื้อไวรัส H7N9 ในมนุษย์
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงและมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงได้ร่วมมือกันวินิจฉัยผู้ป่วยที่ติดเชื้อหวัดนก 4 รายในมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และพบว่า ไวรัสที่พบในตัวของผู้ป่วยนั้นมียีนส์ที่ใกล้เคียงกันมากกับไวรัสที่พบในไก่ที่ถูกคัดแยกออกมาจากตลาดสัตว์ปีกที่พบการระบาด ด้วยเหตุนี้เหล่านักวิจัยจึงเชื่อว่า ตลาดสดที่มีการซื้อขายสัตว์ปีกอาจจะเป็นแหล่งต้นตอของไวรัส H7N9 ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ตรวจสอบลักษณะพันธุกรรมของไวรัส และพบว่า ไวรัสในตัวของผู้ป่วยนั้นมีการกลายพันธุ์ เพื่อที่จะได้อาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมได้ และยังตรวจพบการกลายพันธุ์ของโปรตีนที่ช่วยให้ไวรัสนั้นเกาะเซลของร่างกายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยไม่ตรวจพบการติดเชื้อจากคนสู่คนในผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ 4 รายดังกล่าว ไม่ว่า จะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนหรือที่ทำงานเดียวกัน หรือเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วย
ล่าสุด ยอดผู้ติดเชื้อไวรัส H7N9 ในจีนทั้งหมดมีอยู่ 108 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตแล้ว 23 ราย
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่จัดตั้งโดยกระทรวงเกษตรและองค์การอนามัยสัตว์โลก (WOAH) ชี้ว่า สัตว์ปีกนั้นสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยเมื่อมีการจัดการและปรุงให้สุกอย่างถูกวิธี ยังไม่มีหลักฐานใดๆที่บ่งชี้ว่า ผู้ที่รับประทานสัตว์ปีกหรือไข่ของสัตว์ปีนั้น ติดเชื้อไวรัส H7N9 รัฐบาลจีนได้สั่งให้กำจัดสัตว์ปีกในพื้นที่บางพื้นที่ และกำจัดขยะที่มาจากสัตว์อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคปนเปื้อนเข้ามาในห่วงโซ่อาหารและวงจรการให้อาหารสัตว์
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไต้หวันได้ยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก H7N9 เป็นรายแรก หลังจากที่ผู้ติดเชื้อรายนี้ได้เดินทางกลับมาจากประเทศจีน นับเป็นการติดเชื้อนอกจีนแผ่นดินใหญ่เป็นครั้งแรก โดยผู้ติดเชื้อรายนี้เป็นชายชาวไต้หวันวัย 53 ปีที่เดินทางไปทำธุรกิจที่เมืองซูโจวของจีน และได้เดินทางกลับไต้หวันผ่านทางเซี่ยงไฮ้ ผู้ป่วยรายนี้อาการอยู่ในขั้นวิกฤตและมีการแยกตัวไว้
การพบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรกนี้ ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่า อาจจะทำให้กลุ่มผู้ที่ต้องเดินทางวิตกกังวลหากจำเป็นต้องเดินทาง เนื่องจากเมื่อ 10ปีที่แล้วการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันหรือซาร์ส ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินทางเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาเชื้อโรคมักจะกระจายไปยังประเทศต่างๆจากการเดินทาง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยชาวไต้หวันรายนี้ไม่ได้สัมผัสกับนกหรือสัตว์ปีในระหว่างที่อยู่ที่เมืองซูโจว และไม่ได้รับประทานสัตว์ปีกหรือไข่ที่ไม่ได้ปรุงสุก เขามีอาการป่วยหลังจากที่เดินทางกลับมายังไต้หวันแล้ว 3 วัน และมีผู้ที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยรายนี้ถึง 139 ราย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล 110 ราย
เจ้าหน้าที่ได้ติดตามอาการของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่สัมผัสกับผู้ป่วยรายนี้แล้ว แต่ยังไม่พบว่าติดเชื้อไข้หวัดนก รองศาสตราจารย์เอียน แมคเคย์ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ระบุว่า ในกรณีของการติดเชื้อจากคนสู่คนนั้น การที่ไม่พบหลักฐานของการติดเชื้อนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการติดเชื้อจากคนสู่คนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ไวรัส H7N9 นั้น แพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่าย จากประสบการณ์ในการควบคุมโรคซาร์สของไต้หวันนั้น ทำให้เห็นว่าไต้หวันสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
ผลกระทบจากไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ในแดนมังกร
ธุรกิจท่องเที่ยวของจีนเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ โดยนักท่องเที่ยวต่างพากันหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำและฟาร์มโชว์นกต่างๆ ส่วนร้านอาหารและภัตตาคารก็ต้องถอนเมนูอาหารที่ปรุงจากเป็ดและไก่
การที่จีนมีผู้ติดเชื้อกว่า 120 ราย ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศจะได้รับผลกระทบเหมือนกับช่วงที่เกิดโรคซารส์ระบาดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ในช่วงวันหยุด 3 วันเนื่องในวันแรงงานของจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 29 เม.ย. -1 พ.ค.นั้น ชาวจีนจำนวนมากนิยมเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางที่ไม่ไกลนัก บริษัททัวร์หลายแห่งในเซี่ยงไฮ้เปิดเผยว่า ฟาร์มประเภทที่เปิดรับนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมธรรมชาตินั้น ต่างนำสัตว์ปีกไปเก็บไว้ เพื่อคลายความกังวลเรื่องไวรัสไข้หวัดนก H7N9 หลังจากที่มีรายงานเรื่องผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกในเมืองทางตะวันออกของประเทศ และมณฑลใกล้เคียงอย่างเจ้อเจียง เจียงซู และอันฮุย ซึ่งมณฑลเหล่านี้เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวจากเซี่ยงไฮ้
ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวนิยมดูนกในที่พักแบบที่ตั้งอยู่ในฟาร์ม แต่ปัจจุบันทุกคนต่างก็กลัวที่จะท่องเที่ยวท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สัตว์ปีกไม่ได้กักขังไว้ ขณะที่ฟาร์มอื่นๆได้ยกเลิกกิจกรรมที่อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวต้องสัมผัสกับสัตว์ปีก ร้านอาหารในพื้นที่ก็ถอดเมนูที่ปรุงจากเป็ดและไก่เรียบร้อย
จากการสำรวจบริษัททัวร์ทั่วประเทศโดยหงหยวน ซิเคียวริตีส์ พบว่า แพคเกจทัวร์แบบกลุ่มในพื้นที่ทางตะวันออกของจีนซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดจากไข้หวัดนกนั้น ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด แม้ว่า รายการทัวร์ในพื้นที่ลุ่มน้ำจะถูกถอดออกจากรายการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวก็ตาม
สำหรับบรรยากาศในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกกว่า 30 รายนั้น สถานีรถไฟต่างๆได้เตรียมพร้อมรับมือกับนักท่องเที่ยว ส่วนช็อปปิ้ง มอลล์ต่างก็เตรียมแผ่นพับโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างเมือง
ซู เหว่ย ชาวเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ไข้หวัดนกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการณ์ท่องเที่ยวไปยังมณฑลไห่หนานของครอบครัวของเธอแต่อย่างใด เนื่องจากไห่หนานเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนที่มีชื่อเสียง
ซูกล่าวว่า ความแตกต่างของการเที่ยวครั้งนี้ก็คือ ครอบครัวเธอจะไม่รับประทานข้าวมันไก่ไห่หนานก็แค่นั้นเอง
นักสังเกตการณ์กล่าวว่า แม้ว่าไวรัสอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวแบบฟาร์มและพื้นที่ลุ่มน้ำ แต่ผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวโดยรวมยังถือได้ว่า อยู่ในระดับที่จำกัด
เฉิน หยี่ติง ไกด์ในเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู กล่าวว่า นักท่องเที่ยวไม่สั่งเมนูเป็ดเค็มที่มีชื่อเสียงของเมืองกันเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเรา สถานการณ์ครั้งนี้แตกต่างไปจากเมื่อคราวเกิดการระบาดของโรคซารส์ในปี 2546 อย่างสิ้นเชิง เพราะคราวนั้น ผมไม่ได้ให้บริการลูกค้าเลยเป็นเวลาเกือบถึงครึ่งปี
สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ในจีนครั้งนี้ เรียกได้ว่าแตกต่างจากเมื่อคราวที่เกิดการระบาดของโรคซารส์มากนัก เนื่องจากจีนได้รับบทเรียนและนำมาประยุกต์ใช้ในการรับมือกับการระบาดครั้งล่าสุด ที่เห็นได้ชัดก็คือ จีนให้ความร่วมมือกับองค์กรในต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรายงานตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่หรือผู้เสียชีวิต ล่าสุด จีนได้พัฒนาไปจนถึงขั้นที่มีรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในมณฑลที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อแบบรายวัน รวมทั้งเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขในต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยไวรัส ในขณะที่รองนายกฯของจีนก็มีส่วนร่วมในการหารือกับเจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ จีนยังได้ใช้มาตรการป้องกันในระดับพื้นฐานอย่างทันท่วงที ทั้งการกักตัวผู้ป่วยหรือติดตามอาการของผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ตลอดจนรายงานความคืบหน้าของผู้ป่วยและผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อติดตามดูว่า อาการและลักษณะของการติดเชื้อนั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
จากประสบการณ์และความร่วมมือเช่นนี้ เชื่อว่า จีนและหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องน่าจะรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้เป็นอย่างดี