กฟผ. แจงหลายเขื่อนระบายน้ำตามแผน เว้นเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ปริมาณน้ำน้อยมาก

ข่าวทั่วไป Friday May 3, 2013 09:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2555/56 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน 2 เขื่อนใหญ่ ภูมิพล-สิริกิติ์ ได้สิ้นสุดการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกของโครงการเจ้าพระยาใหญ่แล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 มีการระบายน้ำทั้งสิ้น 7,183 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนที่วางไว้ (6,800 ล้าน ลบ.ม.) จำนวน 383 ล้าน ลบ.ม. เป็นการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล 3,516 ล้าน ลบ.ม. และจากเขื่อนสิริกิติ์ 3,667 ล้าน ลบ.ม.

กฟผ. มีการควบคุมการระบายน้ำ ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ภายใต้คณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรอย่างใกล้ชิด ปัจจุบัน ยังมีหลายเขื่อนที่ยังระบายน้ำเพื่อพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ ในภาคตะวันตก เขื่อนบางลางในภาคใต้ และเขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการระบายน้ำยังคงเป็นไปตามแผน

“สถานการณ์น้ำในปีนี้ มีเพียงเขื่อนในภาคตะวันตก ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 76 ของความจุ เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำร้อยละ 53 ของความจุ มีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 4,867 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่ชลประทานในภาคเหนือและภาคกลาง นับว่าอยู่ในเกณฑ์น้อยเป็นลำดับที่ 8 จากที่เก็บกักน้ำมา 49 ปี สำหรับเขื่อนภูมิพล และ 40 ปีของเขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบัน เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 40 เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 39 มีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 2,392 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทั้ง 2 เขื่อนดังกล่าวจะต้องมีการบริหารจัดการระบายน้ำอย่างรัดกุม เพื่อรอปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างช่วงฤดูฝน เพื่อเตรียมแผนระบายน้ำ เพื่อการทำนาปีต่อไป" ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ