ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยจะต้องขอรับใบอนุญาต และจะต้องจัดตั้งในรูปบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยต้องใช้คำนำหน้าชื่อว่า "บริษัทรักษาความปลอดภัย" และคำว่า "จำกัด" หรือ "จำกัด (มหาชน)" ต่อท้าย แล้วแต่กรณี
โดยกำหนดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ต้องสวมเครื่องแบบและติดเครื่องหมายพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตในขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการช่วยเหลือพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ และหน้าที่อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย โทษทางปกครอง การอุทธรณ์ กำหนดอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ มีบทกำหนดโทษอาญา
รวมทั้งกำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย การเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย การจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการใช้ชื่อบริษัทรักษาความปลอดภัย
"กฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้การประกอบธุรกิจด้านการรักษาความปลอดภัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผู้ทำธุรกิจนี้จะต้องขอรับใบอนุญาตและตั้งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด มีการอบรมพนักงานตามมาตรฐาน....ปัจจุบันมีพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ราว 2.5-3 แสนคนทั่วประเทศ อีกทั้งจะเป็นการคุ้มครองธุรกิจดังกล่าวให้มากขึ้นด้วย" รองโฆษกฯ กล่าว