กลุ่มที่ 2 คือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกำจัดสัตว์ปีก เริ่มฉีดพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม - 30 กันยายน 2556 ที่โรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 หรือสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422
ในการฉีดวัคซีนดังกล่าวครั้งนี้จะรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว เข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด วัคซีนที่ฉีดเป็นชนิดที่ทำจากเชื้อตาย รวม 3 สายพันธุ์ คือ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A H1N1) ชนิดเอ เอช3 เอ็น2 (A H3N2) และชนิดบี (B) ซึ่งเป็นเชื้อตามฤดูกาลที่พบในไทยในขณะนี้ แต่วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกทั้งสายพันธุ์เก่าและใหม่ได้
ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่มักระบาดในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว แต่ละปีไทยมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 9 แสนราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 3 หรือประมาณ 26,000 ราย มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเช่น ปอดบวม ต้องรับรักษาในโรงพยาบาล เสียชีวิตปีละประมาณ 150 ราย ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 913-2,453 ล้านบาท โดยในปี 2556 นี้ มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมทั่วประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม —1 พฤษภาคม รวม 18,005 ราย ไม่มีเสียชีวิต
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มเสี่ยงเช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น หากป่วยเป็นโรคนี้มักจะมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง อาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงต้องฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิป้องกัน ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยยืนยันมีความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพในการลดการเจ็บป่วยและการตาย หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้หลายวิธีคือการมีสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หากมีอาการไอจาม ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชูปิดปาก ปิดจมูก ผู้ที่ป่วยควรหยุดงาน หยุดเรียน พักรักษาตัวจนกว่าจะหาย