กทม.เร่งตรวจสอบป้ายโฆษณา-ขุดลอกท่อระบายน้ำรับมือหน้าฝนนี้

ข่าวทั่วไป Monday May 20, 2013 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุมพล สำเภาพล นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงมาตรการดูแลความปลอดภัยประชาชนช่วงฤดูฝนของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากขณะนี้ได้เข้าสู่ฤดูฝน อาจเกิดพายุหมุนเขตร้อน ลมกระโชกแรง ฝนตกหนัก และน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ ดังนั้น กทม.จึงได้เตรียมมาตรการในการป้องกันและดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

กทม.ได้กำชับให้สำนักการโยธา และสำนักงานเขต 50 เขต ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนด หากตรวจสอบพบว่ามีป้ายไม่มั่นคงแข็งแรงให้แจ้งเจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขด่วนที่สุด โดยเฉพาะในจุดที่มีความเสี่ยง เช่น เขตโรงเรียน ชุมชน เนื่องจากหากเกิดพายุลมแรงอาจโค่นล้มและเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในส่วนของป้ายผิดกฎหมายให้เร่งรัดดำเนินการ รื้อถอน พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายผิดกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ จากเดิมในพื้นที่กทม.มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ประมาณ 1,600 ป้าย บนถนนสายหลักกว่า 150 เส้นทาง ซึ่งจากการรณรงค์และตรวจสอบ 4 ปีที่ผ่านมาตามนโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เหลือป้ายโฆษณาประมาณ 900 ป้ายซึ่งยังคงมีการตรวจสอบต่อเนื่อง อีกทั้งจากเดิมสถิติป้ายล้ม 10-20 ป้ายต่อปี แต่ขณะนี้พบเหตุป้ายล้มเพียง 1 ป้าย อย่างไรก็ตาม กทม.ไม่ได้ละเลยการดำเนินการยังคงตรวจสอบป้ายขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชนร่วมกันเป็นหูเป็นตา หากพบป้ายผิดกฎหมายโปรดแจ้งสายด่วน กทม. โทร. 1555

นอกจากนี้ กทม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต พร้อมทั้งจัดจ้างกรมราชทัณฑ์ เร่งดำเนินการล้างทำความสะอาดและลอกท่อระบายน้ำ 6,090 กิโลเมตร ให้เป็นไปตามแผน ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จทุกเส้นทางในเดือน ก.ค.56 ขณะนี้ผลงานรวมคืบหน้าร้อยละ 42.02 พร้อมทั้งเปิดทางน้ำไหลตามคูคลองต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผลงานคืบหน้าแล้วร้อยละ 65.41 เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับฤดูฝนที่กำลังมาถึง เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน เบื้องต้นจากการประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.56 ยังไม่น่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ตามกทม. หากเกิดฝนตกพายุเขตร้อนส่งผลให้ฝนตกหนักมากกว่า 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จำเป็นต้องใช้เวลาในการรอระบายน้ำไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งกทม.ได้เตรียมพร้อมหน่วยเบสท์ (BEST) กว่า 700 คน ประจำจุดเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำบนถนนสายต่างๆ รวมถึงบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วมเพื่อเร่งระบายน้ำบนถนน จำนวน 1,322 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 54 เครื่อง เพื่อเร่งผลักดันน้ำลงสู่คูคลองและแม่น้ำให้เร็วที่สุด ตลอดจนจัดเตรียมกระสอบทรายไว้ประมาณ 5.8 ล้านใบสำหรับฤดูน้ำหลากด้วย

ด้านสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติภัยจากพายุหมุนเขตร้อนประจำปี 2556 เพื่อเตรียมการป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งเบื้องต้นสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุหมุนเขตร้อนและพายุฝนฟ้าคะนอง โดยเมื่อเกิดลมพายุหมุนหรือฝนฟ้าคะนองให้หลบอยู่ในอาคารสถานที่ปลอดภัย และอยู่ห่างจากสิ่งที่อาจโค่นล้มได้ เช่น ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ต้นไม้ และเสาไฟฟ้า กรณีอยู่ในที่โล่งแจ้งไม่ควรหลบหรือเพิงพักที่อยู่โดดเดี่ยว ไม่ควรใส่เครื่องประดับหรือถือวัตถุโลหะ ควรอยู่ห่างวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้าเช่น ลวดโลหะ ท่อน้ำ และแนวรั้วบ้าน ควรงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และโทรศัพท์ หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์ขึ้นลงในอาคารสูงและควรใช้บันไดแทน เนื่องจากอาจเกิดไฟดับทำให้ติดค้างอยู่ภายในลิฟท์ รวมทั้งดูแลสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย ตลอดจนตัดแต่งกิ่งไม้ที่ไม่แข็งแรงหรือพาดอยู่บนสายไฟ เพื่อป้องกันการหักโค่นล้มทำความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน