"ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 และจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน คือในวันที่ 2 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป" นายชลน่าน กล่าว
สำหรับประเทศไทยได้ดำเนินการใช้มาตรการควบคุมยาสูบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมาตรการที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และส่งผลต่อการควบคุมยาสูบอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การเพิ่มอัตราภาษียาสูบ การห้ามโฆษณาหรือส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ การเพิ่มพื้นที่สาธารณะปลอดควันบุหรี่ และการเพิ่มการเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ รวมทั้งการเตือนให้รับรู้ถึงพิษภัยของยาสูบ โดยเฉพาะภาพ คำเตือนบนซองบุหรี่ โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศทรวงสาธารณสุขให้พิมพ์ฉลากรูปภาพและข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยสี่สี 10 แบบ ขนาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ลงบนซองบุหรี่ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งนับเป็นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยจัดพิมพ์ 10 แบบคละกัน รวมทั้งพิมพ์ช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบ คือ หมายเลขโทรศัพท์ 1600
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป ผู้ผลิตหรือนำเข้าบุหรี่ซิกาแรตทุกราย จะต้องปฏิบัติตามโดยรับต้นแบบภาพที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น การใช้คำเตือนพิษภัยบุหรี่ที่เป็นภาพขนาดใหญ่ครั้งนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสื่อสารถึงประชาชนเรื่องความเสี่ยงภัยหรือผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ซึ่งผลวิจัยยืนยันว่ามีผลต่อทัศนคติความเชื่อของผู้สูบบุหรี่ โดยร้อยละ 71 ทำให้หวนนึกถึงอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ร้อยละ 63 นึกถึงการเลิกบุหรี่ และร้อยละ 80 เกิดแรงผลักดันพยายามเลิกสูบบุหรี่
ขณะนี้ได้ให้กรมควบคุมโรคเร่งชี้แจงทำความเข้าใจผู้ประกอบการทุกราย เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวเดียวกันทั่วประเทศ โดยผ่อนผันให้บุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตหรือนำเข้าก่อนวันที่ประกาศฯ มีผลบังคับใช้คือวันที่ 2 ตุลาคม 2556 อนุญาตให้จำหน่ายได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2556 เท่านั้น ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และผู้จำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตที่ไม่ได้แสดงฉลากตามที่กำหนดไว้ มีโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
นอกจากนี้ได้มีการดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการด้านอื่นๆ สอดคล้องแนวปฏิบัติการห้ามอุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ และการโฆษณายาสูบ การส่งเสริมการขายยาสูบ และการให้การสนับสนุนโดยยาสูบ ตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งเป็นเครื่องมือควบคุมมิให้มีการละเมิด อาทิ การห้ามจำหน่ายยาสูบโดยใช้เครื่องขาย การห้ามโฆษณาแฝง การห้ามจำหน่ายยาสูบโดยจัดโปรโมชั่นต่างๆ การห้ามการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบในทุกช่องทาง เป็นต้น
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรายงานว่าบุหรี่เป็นสาเหตุทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคปีละกว่า 6 ล้านคนหรือเฉลี่ยนาทีละประมาณ 11 คน ส่วนประเทศไทยมีรายงานเสียชีวิตปีละเกือบ 50,000 คน เฉลี่ย 1คนในทุก ๆ 10 นาที อันดับ 1 คือโรคถุงลมปอดโป่งพอง รองลงมาคือมะเร็งปอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2554 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน หรือร้อยละ 21.4 ของประชากรวัยนี้ ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดบุหรี่ สูบเป็นประจำจำนวน 9.9 ล้านคน ผู้ชายมีอัตราสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง 20 เท่าตัว ประการสำคัญยังพบว่า เยาวชนไทย อายุ 15-24 ปี เริ่มสูบบุหรี่เร็วขึ้น จากในปี 2550 เริ่มสูบอายุเฉลี่ย 16.8 ปี แต่ในปี 2554 เริ่มสูบอายุเฉลี่ย 16.2 ปี