ผู้ว่าฯกทม.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ-สร้างอุโมงค์ยักษ์ ลุยแก้น้ำท่วมถ.ศรีนครินทร์

ข่าวทั่วไป Thursday May 30, 2013 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร(กทม.)เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจการขุดลอกเพื่อเปิดทางน้ำไหล และการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ บริเวณแนวถนนศรีนครินทร์ ช่วงคลองเคล็ด คลองขวาง และคลองกะจะ พื้นที่เขตบางนา ประเวศ และบางกะปิ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนศรีนครินทร์

เนื่องจากบริเวณถนนศรีนครินทร์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง และเป็นถนนที่เคยมีปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก ซึ่ง กทม.โดยสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการมาตรการระยะเร่งด่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วมบริเวณถนนศรีนครินทร์ โดยการเปิดทางน้ำไหลคูน้ำข้างทาง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในหลายจุด ได้แก่ จุดช่วงลงคลองเคล็ด มีกำลังสูบ 1.37 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ทำนบชั่วคราวข้างวัดศรีเอี่ยม มีกำลังสูบ 1 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อช่วยสูบน้ำลงคลองเคล็ด เร่งระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนศรีนครินทร์ ช่วงหน้าโรงแรมโนโวเทล

นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ถนนศรีนครินทร์ ช่วงคลองตาช้าง มีกำลังสูบ 4 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ช่วงคลองขวาง ทั้ง 2 ฝั่ง มีกำลังสูบ 3.5 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะช่วยเร่งระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม บริเวณแยกศรีอุดม และบริเวณหน้าห้างซีคอนสแควร์ พร้อมทั้งติดติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ถนนศรีนครินทร์ ช่วงคลองกะจะ มีกำลังสูบ 3 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำบริเวณถนนศรีนครินทร์ช่วงทางรถไฟสายตะวันออก และบริเวณแยกถนนกรุงเทพกรีฑาหน้าบริษัท กรีนสปอร์ท

สำหรับมาตรการระยะกลาง ได้ดำเนินการปรับปรุงท่อระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม และระบบการสูบน้ำให้มีประสิทธิภาพ พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพของคลองโดยการก่อสร้างเขื่อนริมคลองในพื้นที่ เพื่อรองรับการระบายน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

ส่วนมาตรการระยะยาว กทม.ได้ดำเนินการวางแผนออกแบบเพื่อก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงขยายผิวจราจรถนนศรีนครินทร์ การขยายท่อระบายน้ำ จากถนนพัฒนาการถึงถนนอุดมสุข รวมระยะทาง 6 กิโลเมตร ซึ่งตามสัญญาจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.57 แต่ทั้งนี้จะพยายามเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในปี 56 เนื่องจากประชาชนในพื้นที่นี้เดือดร้อนจากปัญหาการจราจรมานานแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ