ขณะที่แนวโน้มของปริมาณน้ำฝนในฤดูกาลที่จะตกลงมาอยู่ในเกณฑ์ปรกติไม่ได้มีปริมาณมาก ทำให้คาดว่าปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่อาจไม่เพียงพอสำหรับเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งปีถัดไป จึงได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์และหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะการวางแผนการใช้น้ำหรือการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งของปีถัดไป ซึ่งอาจมีการปรับแผนปฏิบัติการทำฝนหลวงโดยเพิ่มการเติมน้ำในเขื่อนและอ่างกักเก็บน้ำสำคัญเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2556 ระยะที่ 2 ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2556 ทั้งในเรื่องของมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ฝนทิ้งช่วงและศัตรูพืชระบาด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและเตรียมรับภัยพิบัติในช่วงฤดูฝนให้เข้มข้นขึ้น โดยประเด็นหลักที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผนในระยะที่ 1 ได้แก่ แผนการจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูฝน ปี 2556 การก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบชลประทาน โครงการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย นอกจากนี้ยังปรับเป้าหมายการดำเนินงานในบางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ แผนปฏิบัติการฝนหลวง โดยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเพิ่มขึ้น แผนสำรองปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์สัตว์น้ำและเสบียงอาหารสัตว์ เป็นต้น
พร้อมนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรต่างๆ ในปี 2553 และปี 2554 ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ ธ.ก.ส.ได้โอนเงินให้เกษตรกรแล้ว ยกเว้นกรณีการเยียวยาเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2554/55 ที่ประสบอุทกภัยและกรณีเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนโครงการรับจำนำ ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้รับข้อมูลเกษตรกรที่ประสบภัย จำนวน 857,971 ราย วงเงิน 10,137.69 ล้านบาท ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว จำนวน 857,011 ราย วงเงิน 10,130.11 ล้านบาท คงเหลือเงิน 7.58 ล้านบาท คาดว่าจะปิดบัญชีโครงการได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้