ทั้งนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ตช่วยเพิ่มขีดความสามารถมนุษย์ ทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสาร และเป็นคนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นั่นคือเหตุผลที่ไทยมีแนวคิดริเริ่มเกี่ยวกับ Smart Thailand เพื่อช่วยประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ การนำเทคโนโลยีทางด้านอินเตอร์เน็ตไปใช้ในทางที่ผิด ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม การค้า ความมั่นคงของชาติ และสวัสดิภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนของเรา ซึ่งข้อมูลจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (Thai CERT) ในปีที่แล้ว ได้รายงานถึงภัยคุกคามจากไซเบอร์ ภัยจากไวรัส และการล้วงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตกว่า 800 ครั้ง
"การที่ไม่มีกฎหมายและการป้องกันภัยจากการใช้เทคโนโลยี นอกจากจะส่งผลต่อศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของเราด้วย"
การประชุม FIRST ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อการหาแนวทางและการรับมือกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (ความมั่นคงทางไซเบอร์) เพราะตามสถิติของธนาคารโลก ในปี 2010 ครัวเรือนทั่วโลกที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต มีประมาณร้อยละ 30 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในประเทศไทย มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกว่า 24 ล้านคน และมีหมายเลขโทรศัพท์มือถือกว่า 87 ล้านเลขหมาย จากประชากร 64 ล้านคน
การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยเปิดโอกาสที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้นขึ้น การเชื่อมโยงที่มากขึ้นนำไปสู่การเพิ่มพูนการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดย่อมยังมีเครื่องมือสำคัญที่ช่วยทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในโลกยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีขึ้น ยังช่วยสนับสนุนการศึกษา อาทิ โครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย (One Tablet Per Child) รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล หรือ Telemedicine
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตระหนักถึงการรับรู้ของสาธารณะ การพัฒนาเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันภัยและอาชญากรไซเบอร์ ความร่วมมือในภูมิภาคและความร่วมมือในระดับนานาชาติเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยจึงสนับสนุนความร่วมมือของอาเซียนในการต่อสู้ภัยจากไซเบอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติที่อาเซียนให้ความสนใจเป็นอันดับแรก และหากอาเซียนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ การติดต่อสื่อสารในโลกอินเตอร์เน็ตก็จะได้รับการป้องกันจากภัยคุกคาม
ทั้งนี้ ประเทศไทยสนับสนุนความพยายามของ ARF ในการพัฒนาแผนงานเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยการระดมผู้เชี่ยวชาญและแนวความคิดต่างๆจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ส่วนในระดับโลก มีการจัดประชุมเพื่อรับมือและจัดการอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ระดับโลก หรือ FIRST เพื่อหาวิธีปฏิบัติในการรับมือและจัดการภัยคุกคามทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเพื่อการแบ่งปันข้อมูล หรือเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ การประชุม FIRST จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโลกไซเบอร์ และสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองสำหรับทุกฝ่าย