นิด้าเผยคนค้านชุมนุม"หน้ากากขาว" แม้อยู่ในกรอบปชต. ชี้ทำภาพพจน์ปท.เสีย

ข่าวทั่วไป Thursday June 20, 2013 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประชาธิปไตยกับการชุมนุม" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.47 เห็นว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด รองลงมา ร้อยละ 17.85 เป็นการเคารพกฎหมาย ส่วนร้อยละ 11.77 เป็นการยอมรับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 8.41 เป็นการอดทนรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง

สำหรับความคิดเห็นต่อการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาวว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่นั้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 45.40 เห็นว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นสิทธิที่สามารถแสดงออกได้ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลทำงานไม่โปร่งใส ขณะที่ ร้อยละ 40.51 เห็นว่าไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการสร้างความเดือดร้อน กีดขวางการจราจรให้กับผู้ที่ใช้รถและถนน เป็นการทำประโยชน์เพื่อคนบางกลุ่ม

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.72 ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมดังกล่าว เพราะไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตามที่ชุมนุมจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง เศรษฐกิจและการพัฒนาในด้านต่างๆ จะชะงักลง เป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น หากจะชุมนุมควรอยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให หรือชุมนุมกันอย่างสงบ ขณะที่ประชาชน ร้อยละ 32.99 เห็นด้วย เพราะเป็นการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล การทุจริตคอร์รัปชั่นโครงการต่างๆ เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลออกมาชี้แจงหรือปรับปรุงการทำงานให้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น

เมื่อถามถึงการก่อกวนการปราศรัย/การชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่นั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.21 เห็นว่าไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและประเทศชาติ เป็นการไม่เคารพความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม เป็นการใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย ควรหันหน้าเข้าหากันและเจรจากันด้วยเหตุผลบนหลักความถูกต้อง ขณะที่ประชาชนร้อยละ 24.90 เห็นว่า เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพราะถือเป็นสิทธิในการแสดงออกถึงความคิดเห็น เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง ถือว่ายังไม่เป็นการใช้ความรุนแรง และไม่น่าจะทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายจนเกินขอบเขต

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,249 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2556


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ