ผู้ว่าฯ กทม.ประชุมเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม เตรียมสร้าง 4 คลองด่วนเร่งระบายน้ำ

ข่าวทั่วไป Thursday July 4, 2013 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ได้เรียกประชุมติดตามงานตามนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมขังกรุงเทพมหานคร เพื่อซักซ้อมความพร้อมในการรับมือฤดูฝน ประกอบกับรัฐบาลมีโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จึงมาทบทวนว่าโครงการของรัฐบาลและ กทม.ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันได้อย่างไร เพื่อบูรณาการร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงแผนงานและโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะ 4 ปี(56-60) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำฝนในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.56

สำหรับสถานการณ์ฝนจากการคาดการณ์โดยกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ลมตะวันออกฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทยทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือจะส่งผลให้เกิดฝน โดยใน กทม.จะมีฝนตกร้อยละ 40 ของพื้นที่ โดยในช่วงเดือนครึ่งแรกของเดือน ก.ค.มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนระดับน้ำในเขื่อนประมาณ 32% ยังอยู่ในการควบคุมของกรมชลประทาน

ด้านนายอดิศักดิ์ ขันตี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม.ได้รายงานความคืบหน้าการขุดลอกคูคลอง เพื่อเปิดทางน้ำไหล เป้าหมาย 1,133 คลอง ดำเนินการแล้ว 897 คลอง คิดเป็นร้อยละ 79.38 ส่วนความคืบหน้าการลอกท่อระบายน้ำความยาวรวม 3,949 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 2,884 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 73.51 พร้อมกันนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดอ่อนและจุดเสี่ยง โดยติดตั้งแล้ว 810 เครื่อง สำรอง 249 เครื่อง อีกทั้งสนับสนุนเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ ให้แก่สำนักงานเขตตามที่ร้องขอ ซึ่งเบื้องต้นจัดส่งให้แก่สำนักงานเขตแล้ว 254 เครื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ แต่ยังขาดอีก 36 เครื่อง เนื่องจากมีจำนวนเครื่องสูบน้ำไม่เพียงพอ

สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ(อุโมงค์ยักษ์) เพิ่มเติมจำนวน 6 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีนั้น ในส่วนของโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ประสิทธิภาพการสูบ 60 ลบ.ม./วินาที เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาว 6.4 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติ ครม.เพื่อลงนามสัญญาจ้าง, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 9.4 กิโลเมตร และอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด ความยาว 2 กิโลเมตร ออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างขออนุมัติเงินอุดหนุนรัฐบาล, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างปรับปรุงแบบเนื่องจากกรมทางหลวงชนบทไม่อนุญาตให้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย ความยาว 8.95 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเตรียมศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน ความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการ และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำด้านตะวันออกเชื่อมต่อคลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ กำลังสูบ 100 ลบ.ม./วินาที อยู่ระหว่างการศึกษาและสำรวจความเหมาะสม เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ กทม.ยังมีโครงการก่อสร้างทางด่วนระบายน้ำ ซึ่งจะก่อสร้างได้ในปี 58 เป็นต้นไป รวม 4 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาขอใช้พื้นที่ ได้แก่ 1.คลองด่วนรามอินทรา ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำ บริเวณถนนรามอินทรา ความยาว 4.9 กิโลเมตร 2.คลองด่วนประดิษฐ์มนูญธรรม เพื่อลำเลียงน้ำจากทิศเหนือของกรุงเทพฯ และบริเวณถนนรามอินทราลงสู่อุโมงค์ยักษ์พระราม 9 ประมาณ 3.5 กม. ขณะนี้ยังมีอุปสรรคเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ของชุมชน 3.คลองด่วนรัชดาภิเษก ช่วงจากสถานีสูบน้ำรัชวิภาถึงคลองห้วยขวาง ยาว 5 กม. เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนรัชดาภิเษกช่วงบริเวณหน้าศาลอาญา ซึ่งเมื่ออุโมงค์บางซื่อแล้วเสร็จจะช่วยระบายน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น จะต้องประสานเรื่องพื้นที่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ต่อไป และ 4.คลองด่วนพระยาราชมนตรี ซึ่งเป็นการขุดลอกคลองใหม่เชื่อมคลองบ้านไทรกับคลองพระยาราชมนตรี เพื่อสร้างแนวเขื่อนยาวประมาณ 9 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่เพื่อเลือกแนวคลองที่เหมาะสมและมีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

สำหรับการติดตั้งเรดาห์เพื่อติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีเพิ่มเติม 2 จุด ที่คลองบางไผ่ เขตทวีวัฒนา และศูนย์ฝึกอบรมหนองจอก ซึ่งขณะนี้สามารถจัดหาผู้รับจ้างได้แล้ว คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในปี 58

ส่วนโครงการปรับปรุงเขื่อนต่างๆ ซึ่งมักได้รับการร้องเรียนจากประชาชนถึงปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือไม่ได้ดำเนินการตามสัญญา ทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน ตนเองได้กำชับให้ผู้ควบคุมงานเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มข้นกว่าปกติ และให้มาตรการที่เข้มงวดในการกำกับการทำงานของผู้รับเหมา ทั้งนี้มีโครงการก่อสร้างของสำนักการระบายน้ำที่ได้รับผลกระทบเนื่องมาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6-7 โครงการ

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตามแผนงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำระยะยั่งยืน รัฐบาลได้มอบหมายภารกิจให้ กทม.ดำเนินการในกรณีที่เกิดปัญหาน้ำท่วม เช่น ในปี 2554 โดยให้ กทม.ช่วยรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพฯ ให้ระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและตอนใต้ออกสู่ทะเล ดังนั้น กทม.จึงได้เสนอขออนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลตามโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 3.5 แสนล้านบาท โดยโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำระยะยั่งยืนปี 55-60 ของ กทม.ในระยะแรกได้เสนอโครงการรวม 26 โครงการ เป็นเงิน 14,000 ล้านบาท และในระยะที่สองอีก 17 โครงการ เป็นเงิน 8,056 ล้านบาท ซึ่ง กทม.เตรียมจะเสนอต่อไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการปรับปรุงคลองระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำตามที่ได้รับมอบหมาย แต่รัฐบาลได้ชะลอโครงการของ กทม.ไว้ เนื่องจากให้รอการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดการก่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล 9 Module ที่จะดำเนินการ ซึ่งไม่มีโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมอยู่ด้วย

ปัจจุบันขีดความสามารถในการระบบระบายน้ำของ กทม.ด้านฝั่งพระนครอยู่ที่ 110 ลบ.ม./วินาที ขณะที่รัฐบาลต้องการให้ กทม.เพิ่มขีดความสามารถให้ถึง 300 ลบ.ม./วินาที ส่วนฝั่งธนบุรีสามารถรองรับการระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม./วินาที ขณะที่รัฐบาลต้องการให้ เพิ่มขีดความสามารถให้ถึง 75 ลบ.ม./วินาที แต่ติดปัญหาหามีปริมาณน้ำเหนือไหลหลากเข้ามาจะส่งผลกระทบอย่างมาก ดังนั้น กทม.จะทำหนังสือขอให้รัฐบาลทบทวนการขออนุมัติโครงการฯ เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ถึงเวลาที่จะต้องมีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย โดยได้ตั้งคณะทำงานเร่งศึกษาพิจารณารายละเอียดในเรื่องดังกล่าว โดยมีหลักการที่จะไม่เพิ่มภาระให้กับคนจนหรือผู้มีรายได้น้อย ด้วยการจัดเก็บอัตราสูงจากสถานประกอบการหรือธุรกิจที่ใช้น้ำมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ