เอแบคโพลล์เผยคนส่วนใหญ่รับได้รัฐบาลทุจริต ถ้าตัวเองมีเอี่ยวผลประโยชน์

ข่าวทั่วไป Saturday July 6, 2013 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์ทัศนคติอันตรายของสาธารณชนคนไทย ว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.9 รู้สึกผิดหวังหากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นเสียเอง ในขณะที่ร้อยละ 11.1 ระบุไม่รู้สึกอะไร

ที่สำคัญคือกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 94.5 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นควรถูกตรวจสอบด้วย มีเพียงร้อยละ 5.5 ระบุไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มทัศนคติอันตรายในหมู่ประชาชนว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือร้อยละ 65.5 ในเดือนมีนาคม และร้อยละ 65.0 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 60 ยังคงยอมรับได้รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยตลอดการสำรวจตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ เมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า กลุ่มผู้ชายยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยมากกว่ากลุ่มผู้หญิง คือ ร้อยละ 67.7 ในกลุ่มผู้ชาย และร้อยละ 60.5 ในกลุ่มผู้หญิง

เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มมีสัดส่วนการยอมรับการทุจริตคอรัปชั่นเกินกว่าครึ่งด้วยกันทั้งนั้น โดยที่กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 30 — 39 ปีส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.0 มีทัศนคติอันตรายยอมรับได้รัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยสูงที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 69.4 ในช่วงอายุระหว่าง 20-29 ปี

เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มรับจ้าง/เกษตรกร ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.9 ยอมรับได้รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 73.3 พนักงานเอกชน ร้อยละ 67.1 แม่บ้าน เกษียณอายุ ร้อยละ 63.5 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 62.8 และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 54.0 จะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งในทุกกลุ่มอาชีพต่างยอมรับได้รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น

อนึ่งผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,107 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1—5 ก.ค.56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ