ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่จ.พิษณุโลกเร่งจัดโซนนิ่งกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง, ปริมาณน้ำเขื่อนหลักส่อขาดแคลน

ข่าวทั่วไป Monday July 8, 2013 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามงานโครงการสำคัญตามนโยบาลรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และตาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการบริหารโครงการพื้นที่เกษตรกรรมหรือโซนนิ่งและสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศ ว่า เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีพืชบางชนิดที่ผลิตมากเกินความต้องการของตลาดทำให้ราคาตกต่ำ และบางชนิดราคาจำหน่ายไม่คุ้มค่ากับต้นทุนการผลิต ทำให้ภาครัฐต้องเข้าแทรกแซงราคาหรือรับจำนำ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรหรือปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตในด้านราคา

โดยในเบื้องต้นเน้นดำเนินการในเรื่องข้าว ซึ่งพบว่ามีการปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพถึง 20 ล้านไร่ทั่วประเทศ ในขณะที่ยังมีพืชชนิดอื่นที่มีอนาคตที่ดีกว่าข้าว เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดและปาล์มน้ำมันที่สามารถปลูกทดแทนในพื้นที่ดังกล่าวได้

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการจำแนกพื้นที่เพาะปลูกพืชแต่ละชนิดตามศักยภาพของภูมิประเทศ สภาพดิน แหล่งน้ำจนถึงระดับตำบล ซึ่งชุดข้อมูลดังกล่าวนี้จะส่งไปยังทุกจังหวัด เพื่อให้จังหวัดใช้เป็นข้อมูลในการแนะนำปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร โดยหน่วยงานในระดับพื้นที่โดยเฉพาะในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินนโยบายโซนนิ่งที่ถูกต้อง สามารถให้ข้อมูลทางวิชาการและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อสร้างโอกาสในการผลิตและรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร

“เบื้องต้นกระทรวงได้ทำความชัดเจนเรื่องของพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด ส่งไปให้ทางจังหวัด โดยพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใดอยู่แล้วเจ้าหน้าที่เกษตรจะเข้าไปแนะนำให้ความรู้ในการเพิ่มผลผลิตและวิธีลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ส่วนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในการปลูกข้าวจะแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทางเลือกที่มีตลาดรองรับแน่นอน เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ยังได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนที่มีความต้องการพืชดังกล่าว เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนนี้ ขณะเดียวกันจะเสนอรัฐบาลเกี่ยวกับการมีมาตรการจูงใจในการปรับโครงสร้างการผลิตในครั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปดังกล่าว" นายชวลิต กล่าว

สำหรับสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศ สำนักงานชลประทานที่ 3 ได้รายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิต์พบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนและน้ำใช้เหลือเพียง 4% หากภายใน 2 เดือนไม่มีฝนตกเหนือเขื่อนหรือไม่มีมรสุมเข้าประเทศไทยอาจเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ซึ่งทางชลประทานได้วางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการบริหารจัดการน้ำเท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการปฏิบัติการทำฝนหลวงเหนือเขื่อนในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนอย่างเร่งด่วน จึงขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนใช้น้ำฝนในการทำการเกษตรและร่วมกันประหยัดการใช้น้ำ เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนมีจำกัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ