"พงศ์เทพ" คาดอุทธรณ์คำสั่งศาลฯชัดเจนสัปดาห์หน้า/กบอ.เริ่มทำประชาพิจารณ์ส.ค.

ข่าวทั่วไป Tuesday July 9, 2013 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการศึกษาคำพิพากษาศาลปกครองกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ได้รายงานต่อที่ประชุมครม.ถึงความคืบหน้าของคณะกรรมการศึกษาคำพิพากษาศาลปกครองฯ ว่าที่ผ่านมา จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนใหญ่มองว่าคู่ความคือฝ่ายที่เป็นหน่วยงานต่างๆ ของรัฐนั้นไม่ได้รับโอกาสในการแถลงเนื้อหาสาระแห่งคดีด้วยวาจา มีแต่เพียงการชี้แจงถึงความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการเท่านั้น ดังนั้นหลังจากนี้จะขอให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำความเห็นไปแจ้งต่ออัยการ เพื่อให้อัยการได้พิจารณาและมีข้อเสนอแนะกลับมาว่าควรจะยื่นอุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวหรือไม่
"เรื่องการอุทธรณ์คำสั่งศาลฯ นั้นได้ให้หน่วยงานต่างๆ ไปจัดทำความเห็นของตัวเอง และส่งให้กับอัยการภายใน 12 ก.ค. หลังจากนี้อัยการจะประมวลความคิดเห็นของอัยการเพื่อจัดส่งรายงานความเห็นอัยการให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตัดสินพิจารณาว่าจะอุทธรณ์หรือไม่" นายพงศ์เทพ กล่าว

นายพงศ์เทพ ยืนยันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่แล้ว แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายและสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยินดีให้ความร่วมมือกับคำสั่งศาลปกครองกลาง ดังนั้นจะมีกระบวนการลงไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย รวมทั้งให้เป็นการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลเพิ่งได้ประกาศเจตนารมย์ในเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาล

ทั้งนี้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งต่อที่ประชุมครม.ว่า การรณรงค์การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ คาดว่าจะเริ่มได้ในอีก 7 วันข้างหน้า โดยจะนำรายละเอียดมาเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาถึงแผนการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ได้ และในอีก 1-2 สัปดาห์ก็จะมีการจัดกิจกรรมลงไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและภาคเอกชนทั้งในระดับชาติ ระดับภาค และระดับจังหวัด

ส่วนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA)นั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งนายปลอดประสพ แจ้งว่า การทำงานในส่วนของการศึกษาผลกระทบดังกล่าวนี้จะอิงกับข้อกฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม, พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ