ดังนั้น จึงได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในลุ่มเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนการเพาะปลูกร่วมกัน พร้อมทั้งได้มีการบริหารจัดการน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักฯ และเขื่อนแควน้อยฯ เพื่อการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา โดยพบว่า ขณะนี้เกษตรกรมีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.28 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 65% จากพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 9.73 ล้านไร่ จึงยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่มีการเพาะปลูกอีกประมาณ 35% ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย บางส่วน และพื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ยังคงเลื่อนทำการเพาะปลูกออกไปก่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำการเพาะปลูกได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคมนี้ที่จะกลับมามีฝนตามปกติ
สำหรับพื้นที่ที่เกษตรกรเพาะปลูกไปแล้ว 65% นั้นกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำจากปริมาณน้ำท่าซึ่งเป็นปริมาณฝนที่ตกเข้าระบบส่งน้ำเพื่อจัดส่งให้แก่เกษตรกรเป็นหลัก ขณะเดียวกัน กรมชลประทานจะประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ให้มีความเหมาะสมและตามความจำเป็น เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอที่จะจัดสรรน้ำในการปลูกพืชฤดูแล้ง ซึ่งคาดว่าการปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานจะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะอยู่ที่ 4 ล้านไร่ จากปีที่ผ่านมามีการเพาะปลูกถึง 7.3 ล้านไร่
โดยวันที่ 1 พ.ย.56 นี้กรมชลประทานคาดว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 9 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะปริมาณน้ำจาก 2 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลอ่างเพิ่มขึ้นโดยเขื่อนภูมิพลขณะนี้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน และเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน
ด้านนายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน ด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำหรับในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนนั้นขณะนี้เกษตรกรได้เริ่มทำการเพาะปลูกแล้ว เนื่องจากมีฝนตกหลายพื้นที่และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพิ่มขึ้น แต่ในด้านอีสานตอนล่างที่กรมชลประทานยังขอให้เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกออกไปก่อน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนยังมีอยู่น้อยเฉลี่ยยังต่ำกว่า 30% ของความจุดอ่างฯ