ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนมั่นใจว่าข้าวสารบรรจุถุงมีมาตรฐาน ปัญหาสารรมควันตกค้างที่เกิดขึ้นนั้นมาจากบางขั้นตอนในการผลิตเท่านั้น ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายตรวจข้อมูลก่อนมีการเผยแพร่ข่าวออกมา เพื่อไม่ให้เกิดผลเสีย รวมถึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออก
"มาดูมาตรฐานของเอกชน เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ กว่าจะเป็นข้าวถุงมีขั้นตอนในการตรวจมีมาตรฐานต่างๆ มากพอสมควร อยากให้สบายใจ การเจอปัญหาอาจอยู่ที่บางขั้นตอน ไม่ได้หมายความว่าเป็นทั้งกระบวนการ" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า คุณภาพข้าวสารบรรจุถุงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งกระทรวงฯ ได้สุ่มตรวจข้าวบรรจุถุงที่จำหน่ายในท้องตลาดกว่า 100 ตัวอย่าง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าสารปนเปื้อนจริง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดและไม่เป็นอันตราย ซึ่งขอให้ประชาชนมั่นใจ โดยหลังจากนี้จะออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อกำหนดค่ามาตรฐานของสารปนเปื้อนในข้าวบรรจุถุงว่าต้องมีค่าไม่เกินเท่าไหร่ ทั้งนี้หากประชาชนไม่สบายใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวสามารถส่งเรื่องมาที่กระทรวงฯ ก็จะส่งเจ้าหน้าที่องค์การอาหารและยา(อย.) ลงพื้นที่ไปตรวจสอบโกดังและโรงสีทันที
ก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีได้เข้าเยี่ยมชมขบวนการผลิตข้าวตราฉัตร ของบริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ที่มีกำลังการผลิตข้าวภายใต้ตราสินค้า "ข้าวตราฉัตร" ได้กว่า 1 แสนตัน/ปี และเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยผ่านการควบคุม ตรวจสอบและบรรจุถุงด้วยมาตรฐานเดียวกันเพื่อส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ
นายประสิทธิ์ ดำรงค์ชิตานนท์ รองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุว่า ในปี 2556 คาดว่าจะปิดยอดจำหน่ายข้าวตราฉัตรทั้งภายในและต่างประเทศรวม 950,000 ตัน มูลค่า 24,448 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนปริมาณส่งออกต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 54 และในประเทศร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับปี 2555 คาดมีปริมาณเพิ่มขึ้น 8% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 12%
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้มีการเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางน้ำของประเทศให้กับรัฐบาล โดยขอให้สนับสนุนท่าเรือใน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นท่าเรือส่วนต่อขยายของท่าเรือทะเล ขอให้พัฒนาและบำรุงทางน้ำเดิมเนื่องจากบางช่วงตื้นเขินจึงควรขุดลอกคลองให้สามารถเดินเรือได้ พร้อมขอให้รัฐบาลกำหนดและควบคุมขนาดของเรือลำเลียงในร่องน้ำป่าสักอย่างเข้มงวด รวมทั้งให้เรือทุกลำติดเครื่องหมาย loadline ตามมาตรฐานและตามใบอนุญาต ขอให้แก้ไขความสูงของสะพานในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก เนื่องจากเรือไม่สามารถผ่านได้ช่วงน้ำสูง
ขณะเดียวกันขอให้จัดโซนนิ่งท่าเรือป้องกันผลกระทบต่อประชน, ขอให้เร่งรัดการใช้ท่าเทียบเรือชายฝั่งที่ท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้เรือสินค้ามีท่าเทียบเรือเป็นการเฉพาะ, ขอให้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการเดินเรือ อาทิ ระดับน้ำ ความสูงสะพาน กระแสน้ำ เพื่อความปลอดภัย, ขอให้กวดขันน้ำหนักสินค้าของรถบรรทุก เพราะส่งผลให้ต้องเสียงบประมาณซอมแซมถนนและเกิดอุบัติเหตุ และขอให้จัดทำแผนแม่บทการขนส่งทางลำน้ำและชายฝั่งให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ดี จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดที่มีท่าเรือเอกชนในลำน้ำจำนวนมากถึง 64 แห่ง และอยู่ในลำน้ำป่าสักถึง 49 แห่ง จึงนับว่ามีศักยภาพสูงในการดำเนินยุทธศาสตร์การขนส่งทางเรือในลำน้ำ ซึ่งท่าเรืออยุธยา และทางบริษัทฯ ได้มีการให้บริการพื้นที่วางตู้คอนเทนเนอร์และขนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ ทำให้เอกชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ ซึ่งจะทำให้เอกชนในพื้นที่โดยรอบมีความได้เปรียบทางการแข่งขันมากขึ้น เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของอยุธยาพร้อมกับช่วยบรรเทาความแออัดของรถบรรทุกบนท้องถนนได้อีกด้วย