รมว.คมนาคม สั่งยกเครื่องมาตรการดูแลความปลอดภัยขนส่งสาธารณะทั้งระบบ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 24, 2013 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยระบบขนส่งสาธารณะจากกรณีรถพ่วง 22 ล้อพุ่งชนรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) จนเกิดเพลิงลุกไหม้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากว่า กระทรวงฯ เตรียมปรับปรุงมาตรการดูแลความปลอดภัยระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบ เบื้องต้นได้สั่งการให้ บขส.กำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยบนตัวรถเพิ่มเติม ได้แก่ การกำหนดให้พนักงานประจำรถ พนักงานตรวจประจำรถต้องประกาศแนะนำอุปกรณ์ความปลอดภัยทุกครั้งที่ออกรถ เร่งจัดทำคู่มือการใช้งานอุปกรณ์เก็บไว้ที่เก้าอี้ทุกที่นั่งเหมือนบนเครื่องบิน รวมทั้งปรับปรุงป้ายต่างๆบนรถให้มีความชัดเจน

ส่วนพนักงานขับรถกำหนดให้ขับชิดช่องซ้ายหรือช่องกลาง พยายามหลีกเลี่ยงการขับช่องขวาหากไม่จำเป็น รวมทั้งจะมีการสร้างจุดพักรถเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถจอดพักได้ นอกจากนี้จะต้องกวดขันให้ผู้โดยสารทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัยที่จัดไว้ให้ ขณะที่กรมการขนส่งทางบก จะต้องกลับไปศึกษามาตรฐานสากลเกี่ยวกับการใช้วัสดุในการนำมาประกอบเป็นอุปกรณ์ในตัวรถ เช่น ผ้าม่าน เบาะผ้า สีตัวถังรถ น้ำยาแอร์ สายไฟฟ้า ซึ่งจะต้องเป็นวัสดุกันไฟหรือไม่

"ต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการเกิดไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็วภายในตัวรถที่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ เกิดจากสาเหตุอะไร เกิดจากเชื้อเพลิงจากถังเชื้อเพลิงเอ็นจีวีของรถบรรทุกคันที่พุ่งชน หรือเกิดจากวัสดุอุปกรณ์ภายในตัวรถโดยสารที่มีอุปกรณ์ที่ติดไฟง่าย โดยให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน" นายชัชชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุเกิดจากผู้ขับรถบรรทุกพ่วงหลับในพุ่งชนรถโดยสาร ดังนั้น กรมการขนส่งทางบก จะต้องกลับไปทบทวนมาตรการควบคุมผู้ขับรถบรรทุกให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยอาจจะทบทวนระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ โดยเฉพาะใบอนุญาตขับขี่รถบรรทุกประเภท ท.3 หรือรถพ่วง และ ท.4 หรือรถอันตรายว่าอาจจะเป็นลักษณะแบบปีต่อปี จากปัจจุบันที่มีการต่อใบอนุญาต 3 ปี รวมทั้งให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของรถบรรทุกจะต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบกับอุบัติเหตุที่เกิดจากคนขับรถบรรทุกกระทำผิดกฎหมายด้วย

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงกรณีมีงานวิจัยระบุถึงความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารแบบ 2 ชั้นนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้ ขบ.ไปรวบรวมข้อมูลและผลงานวิจัยเพื่อประกอบการตัดสินใจ หากจำเป็นจะต้องทบทวนนโยบายการใช้รถ 2 ชั้นก็ไม่ขัดข้อง หากมีเหตุผลเรื่องความปลอดภัยที่สามารถอธิบายได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ