ทั้งนี้ คาดว่าจะเริมโคาวการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร จ.พิจิตร ซึ่งจะเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จ.สระบุรี เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรม เช่น กระดาษ พลาสติก และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น
นายนำชัย กล่าวว่า กฟภ.มีนโยบายลงทุนด้านพลังงานทดแทนและยกระดับคุณภาพการบริการด้านระบบไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟมีความพอใจสูงสุด ขณะเดียวกันกนอ.ก็มีนโยบายด้านนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ยังรวมไปถึงแนวทางการให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมโครงการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพการบริการในระดับพรีเมียม
หากการศึกษามีความเป็นไปได้ ทั้งสองหน่วยงานจะพิจารณาแนวทางในการร่วมลงทุนและขยายการดำเนินงานไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆทั่วประเทศต่อไป โดยหลังจากลงนามความร่วมมือกันแล้วจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานด้านพัฒนาธุรกิจและหน่วยงานด้านการวางแผนการลงทุนที่อยู่ภายในองค์กรของ กฟภ. คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาราว 2 ปี และอย่างเร็วน่าจะเห็นความคืบหน้าเบื้องต้นได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้
ด้านนายวีรพงศ์ กล่าวว่า กนอ.และ กฟภ.เล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าภายในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพลังงานทดแทน อย่างพลังงานแสงอาทิตย์และสิ่งที่เหลือใช้จากอุตสาหกรรมที่สามารถนำกลับมาใช้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าได้ และการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นและความต่อเนื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า ในกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการได้
"การร่วมมือครั้งนี้ เป็นการบูรณาการส่งเสริมพัฒนางานของแต่ละหน่วยงาน และสร้างความสัมพันธ์เชิงพันธมิตร ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจของประเทศต่อไป" นายวีรพงศ์ กล่าว