พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังแต่งตั้งคณะอนุกรรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายจากกรณีดังกล่าว โดยมีอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นประธาน เพื่อดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.กำกับดูแลการฟื้นฟูสภาพชายหาด 2.ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจะต้องเร่งรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากข้อร้องเรียนประชาชนผ่านศูนย์จังหวัดระยอง และ 3.ประเมินเพื่อปรับปรุงแผนปฏิบัติการระเบียบการขจัดคราบน้ำมัน ที่ได้จัดทำตั้งแต่ปี 47 ให้มีความทันสมัย โดยจะต้องเสนอแผนกลับมาให้กปน.พิจารณาภายใน 1 เดือน
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีปัจจัยเรื่องลมมรสุมรุนแรง ทำให้การควบคุมคราบน้ำมันไม่เป็นไปตามที่คาดการ น้ำมันกระจายตัวเข้าอ่าวพร้าวรวดเร็ว ถือเป็นบทเรียนที่ต้องนำมาปรับปรุงแผนและการปฏิบัติการให้ดีขึ้น โดยจะต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ระบบการขนน้ำมันทางท่อ มาตรฐานของอุปกรณ์ในการขนส่งน้ำมันทางท่อ การกำหนดระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ การเผชิญเหตุ ระดับคลื่นลม การนำเข้าสารเคมี การกำจัดของเสีย ขณะเดียวกันการซ้อมแผนปฏิบัติการต้องซ้อมในช่วงที่สภาพอากาศไม่ปกติ ส่วนแผนปฏิบัติการก็ต้องกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติงานด้วย" นายชัชชาติ กล่าว
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวถึงความคืบหน้าในการรวบรวมความเสียหายว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมและขอข้อมูลจากจ.ระยองและกรมประมง ในผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วต่อการทำประมง ขณะที่แผนฟื้นฟูพื้นที่เกิดเหตุนั้น ปตท.จะจัดส่งแผนมายังกรมเจ้าท่าภายในสิ้นเดือน ส.ค. เพื่อนำมาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าครอบคลุมหรือไม่ แต่ทั้งนี้นายชัชชาติ เห็นว่าระยะเวลาดังกล่าวอาจจะนานเกินไป จึงขอให้กรมเจ้าท่าเร่งรัดให้ ปตท.ทยอยส่งแผนฟื้นฟูก่อน 2 สัปดาห์เพื่อให้ขบวนการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นโดยเร็ว
ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) และปตท.จะทำให้อ่าวพร้าว เกาะเสม็ดกลับสู่สภาพเดิมให้มากที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงจะแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันจะติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
พร้อมยอมรับว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ เพราะบริษัทคาดไม่ถึงว่ามรสุมจะรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมน้ำมันที่รั่วให้อยู่นอกน่านน้ำได้ ดังนั้นในอนาคตจะมีการปรับแผนและวิธีการปฎิบัติงานในช่วงมรสุมเพิ่มขึ้น ส่วนอุปกรณ์ท่อส่งน้ำมันนั้น ยืนยันว่าท่อที่แตกเป็นท่อใหม่ อายุการใช้งานเพียง 1 ปี และเพิ่งได้รับการตรวจความดัน ซึ่งปกติจะตรวจสอบทุก 5 ปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจพิสูจน์สาเหตุการชำรุด
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำทั้งอ่าวพร้าวและรอบเกาะเสม็ด โดยค่าที่ตรวจได้แบบทราบทันทีถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากจะให้ทราบรายละเอียดว่ามีโลหะหนักหรือสารอื่นๆ ปนเปื้อนอยู่หรือไม่นั้นต้องใช้เวลาประมาณ 10 วันจึงจะทราบผลที่ชัดเจน ขณะที่การตรวจสอบคุณภาพอากาศรอบเกาะเสม็ดไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด